แนวทางการกำหนดเขตรับผิดชอบระหว่างจังหวัดทางทะเลในเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของไทย

Main Article Content

สมาน ได้รายรัมย์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


            ประเทศไทยได้ประกาศเขตทางทะเลต่างๆ โดยสามารถเรียงลำดับตามระยะจากชายฝั่งออกไปในทะเลได้ดังนี้ การประกาศเขตอ่าวไทยตอนใน การกำหนดเขตจังหวัดอ่าวไทยตอนใน การประกาศเส้นฐานตรง การประกาศความกว้างของทะเลอาณาเขต การประกาศความกว้างของเขตต่อเนื่อง การประกาศเขตไหล่ทวีป และการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เขตทางทะเลของประเทศไทยตามอำนาจทางกฎหมายประกอบด้วยเขตอำนาจอธิปไตยและเขตสิทธิอธิปไตย เขตอำนาจอธิปไตยได้แก่บริเวณน่านน้ำภายในคือบริเวณทะเลที่อยู่ถัดจากเส้นฐานตรงเข้าไปในแผ่นดิน และทะเลอาณาเขตคือบริเวณทะเลจากเส้นฐานตรงและเส้นฐานปกติออกไปในทะเลมีระยะไม่เกิน ๑๒ ไมล์ทะเล สำหรับเขตอำนาจอธิปไตยเปรียบเสมือนแผ่นดินของไทย ดังนั้นกฎหมายทุกฉบับที่บังคับใช้บนแผ่นดินจึงถูกบังคับใช้ในเขตน่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขตด้วย ปัจจุบันมีเพียงจังหวัดในอ่าวไทยรูปตัว ก. เท่านั้นที่มีการกำหนดเขตจังหวัดในทะเลตาม พระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ.2502 โดยมีจุดประสงค์ระบุไว้ตอนท้ายว่า เพื่อประโยชน์ในการปกครองและความสะดวกของประชาชน สำหรับจังหวัดชายทะเลอื่นๆ นั้นยังมิได้มีการกำหนดเขตทางทะเลครอบคลุมเขตอำนาจอธิปไตยทางทะเลของไทยอย่างสมบูรณ์ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐ ขาดความมั่นใจในตำบลที่เกิดเหตุ หรือกระทำความผิด นำมาซึ่งความลังเลในการดำเนินการตามที่ได้รับอำนาจตามกฎหมาย สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการแบ่งเขตรับผิดชอบระหว่างจังหวัดทางทะเล การแบ่งเขตความรับผิดชอบทางทะเลนั้นแตกต่างจากการแบ่งเขตทางบก โดยธรรมชาติการแบ่งเขตทางบกจะอาศัยลักษณะภูมิประเทศในการแบ่งเช่น แม่น้ำ สันเขา เป็นต้น แต่การแบ่งเขตความรับผิดชอบทางทะเลนั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากไม่สามารถใช้วิธีการเช่นเดียวกับการแบ่งเขตทางบกได้ ดังนั้นการแบ่งเขตรับผิดชอบระหว่างจังหวัดทางทะเล จึงได้ศึกษาวิธีการ ผลการตัดสินของศาลโลก และศาลระหว่างประเทศทางทะเล มาเป็นแนวทางในการแบ่งเขตความรับผิดชอบระหว่างจังหวัดทางทะเลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในทุกภาคส่วน โดยหากบริเวณใดในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยที่ได้มีการแบ่งเขตทางทะเลไว้บางส่วนอยู่บ้างแล้ว ก็จะคงไว้เช่นเดิมเพียงแต่จะทำการขยายแนวเส้นเขตระหว่างจังหวัดทางทะเลออกไปให้ครอบคลุมเขตอธิปไตยทางทะเล และการแบ่งเขตความรับผิดชอบทางทะเลในแต่ละคู่จังหวัดจะดำเนินการตามหลักของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 คือ บรรลุผลอันเที่ยงธรรม โดยผลของการแบ่งเขตความรับผิดชอบทางทะเลจะนำมาซึ่งความชัดเจนในเขตความรับผิดชอบทางทะเลของแต่ละจังหวัด เขตทะเลตามอำนาจอธิปไตยของไทยมีความสมบูรณ์ และนำมาซึ่งการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้สามารถนำเขตระหว่างจังหวัดทางทะเลที่ได้กำหนดขึ้นไปใช้ในงานด้านอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น งานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดชายทะเล เขตประมงระหว่างจังหวัด ทช.จังหวัด ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ภายในจังหวัดเดียวกันเข้าใจตรงกันถึงขอบเขตความรับผิดชอบทางทะเลของจังหวัดตน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982. กรุงเทพฯ

วิรงรอง ทิมดี, สมาน ได้รายรัมย์. แนวทางการขยายเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดในเขตทะเลชายฝั่งระยะ 12 ไมล์ทะเล. เอกสารวิชาการฉบับที่ 7/2560. ราชการบริหารส่วนกลาง กรมประมง. กรุงเทพฯ

International Court of Justice (ICJ). (Judgment of 20 February 1969). North Sea Continental Shelf Cases, Federal Republic of Germany; Denmark; Netherlands. Hague.

International Court of Justice (ICJ). (Judgment of 3 February 2009). Maritime Delimitation in Black Sea (Romania v. Ukraine). Hague.

International Tribunal for the Law of the Sea (ITLOS). (Judgment of 14 March 2012). Dispute Concerning Delimitation of the Maritime Boundary between Bangladesh and Myanmar in the Bay of Bengal. Hamburg.

International Court of Justice (ICJ). (Judgment of 27 January 2014). Case concerning maritime dispute (Peru v. Chile). Hague.

International Court of Justice (ICJ). (Judgment of 13 December 2007). Territorial and maritime dispute (Nicaragua v. Colombia). Hague.

International Tribunal for the Law of the Sea (ITLOS). (Judgment of 23 September 2017). Dispute Concerning Delimitation of the Maritime Boundary between Ghana and Cote D’Ivoire in the Atlantic Ocean. Hamburg.

สมาน ได้รายรัมย์, (2557). The Equi-Area/Ratio The new method for maritime delimitation. United Nations, New York & National Oceanography Centre, Southampton.