การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง : กรณีศึกษาหาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

Main Article Content

รณกร ธาราเวชรักษ์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลอุทกศาสตร์สำหรับสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือของกองทัพเรือและเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งบริเวณชายฝั่งด้านใต้ของเขาหน้ายักษ์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี – หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ระยะทางตามแนวชายฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร และมีระยะห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร ดำเนินการโดยการสำรวจความลาดชันตามแนวชายหาดและเก็บรายละเอียดขอบฝั่ง การสำรวจหยั่งน้ำบริเวณหน้าหาด มาตราส่วน 1 : 5,000 เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงความลึกพื้นท้องทะเล การตรวจกระแสน้ำประจำที่ จำนวน 2 จุด บริเวณชายฝั่งตอนบนและตอนล่างของพื้นที่สำรวจ และการเก็บตัวอย่างตะกอนชายฝั่ง เพื่อวิเคราะห์ขนาดของตะกอนในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่แสดงความลาดชันและรายละเอียดขอบฝั่ง แผนที่แสดงความลึกพื้นท้องทะเลบริเวณหน้าหาด ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งบริเวณหาด ข้อมูลการไหลเวียนของกระแสน้ำบริเวณหน้าหาด และข้อมูลลักษณะทางอุตุนิยมวิทยา ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งบริเวณหาดท้ายเหมืองมีลักษณะเป็นแบบสภาวะสมดุลพลวัต (Dynamic Equilibrium) กล่าวคือในช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีกำลังแรงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม คลื่นจะกัดเซาะชายหาดออกไปเป็นแนวตรงดิ่ง (Scarp) ทรายจะถูกคลื่นหอบออกสู่ทะเลกลายเป็นสันทรายใต้น้ำ ทำให้ความลาดชันของหาดเพิ่มขึ้น แต่เมื่อคลื่นลมสงบ (Calm Wave) คือ ช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและ
ลมตะวันออก คลื่นจะพัดพาทรายกลับเข้าหาฝั่งอย่างช้า ๆ และก่อตัวเป็นชายหาดดังเดิม การศึกษาเพื่อให้ได้ข้อสรุปเช่นนี้ จะต้องทำการศึกษาซ้ำบริเวณพื้นที่เดิมให้ครอบคลุมช่วงเวลาทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

พันธ์นาถ นาคบุปผา, นาวาตรี. เอกสารวิจัยหลักสูตรเสนาธิการทหารเรือ การพัฒนางานด้านระดับน้ำของกรมอุทกศาสตร์. [นครปฐม]: [โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ]; 2549.

สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์. การจัดการชายฝั่ง:การบูรณาการสู่ความยั่งยืน. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล; 2554.

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สำนักอุทยานแห่งชาติ [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: สำนักอุทยานแห่งชาติ; c2015 [เข้าถึงเมื่อ 25 ก.ย. 2561]. เข้าถึงได้จาก: http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow .php?PTA_CODE=1052

กรมอุทกศาสตร์, กองสมุทรศาสตร์. รายงานการวิเคราะห์คลื่นจากข้อมูลลม (WAM) บริเวณฝั่งตะวันตกของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: กอง; 2560.

กรมอุทกศาสตร์, กองสมุทรศาสตร์, แผนกสมุทรศาสตร์และระดับน้ำ. ค่ารายการน้ำ (TIDAL INFORMATION).กรุงเทพฯ: แผนก; 2559.