การศึกษาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง โดยใช้ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

Main Article Content

วิสณุ ตรุษทุ่ง

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


 


        การศึกษาครั้งนี้  เป็นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ บริเวณปลายแหลมตะลุมพุกถึงเขื่อนกันทรายบ้านบ่อคณฑี 3 ช่วงเวลา คือ ปี 2538 2542 และ 2545 โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ บริเวณคลองท่าพญาถึงเขื่อนกันทราย (Jetty) บ้านบ่อคณฑี รวมระยะทางตามแนวชายฝั่งประมาณ 45.8 กิโลเมตร


        ผลการศึกษาพบว่า  จากการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ ช่วงปี พ.ศ.2538-2542 พบว่าหลังจากสร้างเขื่อนกันทรายบริเวณปากคลองระบายน้ำ บ้านบ่อคณฑี  ในปี พ.ศ.2527  ส่งผลให้สภาพแนวชายฝั่ง บริเวณริมถนนปากพนัง-หัวไทร ซึ่งอยู่ด้านเหนือเขื่อนกันทรายบ้านบ่อคณฑี เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงในอัตรา 7.89 เมตรต่อปี เป็นความยาวตามแนวชายฝั่งประมาณ 400 เมตร ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาดังกล่าว ได้มีการสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งบริเวณริมถนนปากพนัง-หัวไทร เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร  ประกอบด้วย รอดักทรายรูปตัวที จำนวน 19 ตัว และรอดดักทรายรูปตัวไอจำนวน 4 ตัว แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2543 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ ช่วงปี พ.ศ.2542-2545 พบว่าบริเวณด้านเหนือรอดักทรายตัวสุดท้าย เป็นระยะทางตามแนวชายฝั่งประมาณ 2.6 กิโลเมตร เนื้อที่ถูกกัดเซาะหายไปประมาณ 118,450.70 ตารางเมตร โดยมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 15.18 เมตรต่อปี  และมีแนวโน้มพื้นที่ดังกล่าวจะถูกกัดเซาะเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะ เนื่องจากคลื่นลมในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งตามธรรมชาติ ส่วนบริเวณที่มีโครงสร้างตามแนวชายฝั่ง เช่น เขื่อนกันทรายบริเวณปากคลอง (Jetty) เขื่อนกันทรายตามแนวชายฝั่ง (Break Water) รอดักทราย (Groins) หรือบริเวณปากคลองที่มีการสร้างแนวเขื่อนคอนกรีต โครงสร้างเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งในพื้นที่ศึกษา กล่าวคือ ช่วยป้องกันการตื้นเขินของร่องน้ำ และป้องกันการกัดเซาะ  แต่เป็นตัวขวางกั้นการเคลื่อนตัวของมวลทราย โดยเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งหรือด้านท้ายน้ำ  และเร่งให้เกิดการทับถมของตะกอนทรายด้านทิศใต้ของโครงสร้าง ซึ่งเป็นด้านเหนือน้ำ


        จากผลการศึกษานี้ สรุปได้ว่า การดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในแต่ละพื้นที่ควรดำเนินการในภาพรวม  เนื่องจากการพัดพาตะกอนตามแนวชายฝั่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความสัมพันธ์กันทั้งระบบ ในการสร้างสิ่งก่อสร้างชายฝั่งใดๆ มักจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งข้างเคียง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่ง เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติชายฝั่งทะเล  เช่น  การสูญเสียหาดทราย  สวนมะพร้าว  ป่าชายเลน  ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในระยะยาว จึงควรมีความระมัดระวังเป็นพิเศษในการที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ยื่นล้ำไปในทะเล

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

สมปรารถ ฤทธิ์พริ้ง,. (2545). การเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง. วิทยานิพนธ์ วศม., มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ.

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย.(2546). โครงการศึกษาแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ปากแม่น้ำเพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรีถึงปากแม่น้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. บริษัทเซ้าท์อีสท์เอเชียเทคโนโลยี่ จำกัด.

ดนุพล ตันนโยภาส, จักรกริส กสิสุวรรณ และ เชาวน์ ยงเฉลิมชัย. (2543). การรับรู้จากระยะไกล

เพื่อเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งในภาคใต้ตอนล่าง ประเทศไทย (ปัตตานีและนราธิวาศ). วารสารปาริชาต, 15(1), 17-28.

สิน สินสกุล, สุวัฒน์ ติยะไพรัช, นิรันดร์ ชัยมณี และ บรรเจิด อร่ามประยูร. (2545). การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย, กรมทรัพยากรธรณี. กรุงเทพฯ.

Sojisuporn, P.,Saramul, S., Jarupongsakul, T. and Thana, B. (2005). Some physical oceanographic characteristics relating to coastal erosion at Pak Phanang river basin,Nakorn Si Thammarat province. Metals, Materials and Mineral, 2 (2005), 41-53.

วันชัย จันทร์ละเอียด. (2548). การเฝ้าติดตามเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งตั้งแต่บ้านตันหยงเปาว์ถึงบ้านบางตาวา จังหวัดปัตตานี โดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และแบบจำลอง GENESIS วิทยานิพนธ์ วทม., มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, จังหวัดสงขลา.