การประหยัดพลังงานโดยตัวสะสมความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์

Main Article Content

วิศรุต เชิดชู
อรรถวิทย์ ดีนาง

บทคัดย่อ

            โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ได้ดำเนินการอนุรักษ์พลังงาน ด้านไฟฟ้า แสงสว่าง ระบบปรับอากาศ และด้านการใช้พลังงานความร้อน ได้ทำการติดตั้งตัวสะสมความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อนำมาอุ่นน้ำป้อนจ่ายให้กับหม้อไอน้ำที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตา ขนาด 5 ตันต่อชั่วโมง โดยประกอบด้วยถังเก็บน้ำร้อน ขนาด 15,000 ลิตร และแผงรับรังสี ชนิดหลอดแก้วสุญญากาศ จำนวน 310 แผง ติดตั้งบนหลังคาซึ่งสามารถทำอุณหภูมิได้ในช่วง 70 - 90 องศาเซลเซียส การศึกษานี้ได้ทำการเก็บข้อมูลตัวแปรต่าง ๆ จากมิเตอร์ที่ติดตั้งไว้ตามโหลดใช้งานจริงในการเดินเครื่อง แล้วนำมาคำนวณเปรียบเทียบเพื่อหาปริมาณการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตา ระยะคืนทุน ในช่วงก่อนและหลังการติดตั้งตัวสะสมความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ 


            ผลที่ได้พบว่า ปริมาณการผลิตไอน้ำของหม้อไอน้ำ ทั้งสองช่วงมีค่าใกล้เคียงกันที่ 1,787.14 และ 1,791.41 กิโลกรัมไอน้ำต่อชั่วโมง แต่ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาลดลง โดยดัชนีการผลิตไอน้ำต่อเชื้อเพลิงมีค่าเท่ากับ 14.36 และ 15.61 กิโลกรัม-ไอน้ำต่อลิตร จากค่าดัชนีการผลิตไอน้ำต่อเชื้อเพลิงที่มีค่าสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าหม้อไอน้ำสามารถผลิตไอน้ำได้มากขึ้นขณะที่มีการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาต่อลิตรเท่าเดิม เป็นผลจากการเพิ่มอุณหภูมิน้ำป้อนที่จ่ายให้กับหม้อไอน้ำ โดยการติดตั้งตัวสะสมความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว และยังสามารถลดการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาลงได้ 77,285 ลิตรต่อปี คิดเป็น 8.01% ระยะเวลาคืนทุนเบื้องต้น 6.81 ปี 

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (2553). ตำราฝึกอบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน (โรงงาน) ตอนที่ 1 บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานด้านพลังงาน. กรุงเทพฯ: กระทรวงพลังงาน.

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (2554). ตำราอบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงานอาวุโส ด้านปฏิบัติ บทที่ 5 การอนุรักษ์พลังงานในระบบหม้อไอน้ำ. กรุงเทพฯ: กระทรวงพลังงาน.

ณัฐนี วรยศ, วิภาวดี วงศ์สุวรรณ และ ทะนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์. (2552). การพัฒนาระบบทำน้ำร้อนแสงอาทิตย์ในประเทศไทย. วารสารวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, 16(2), 55-69.

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี ไทย-ญี่ปุ่น. (2543). เทคนิคการประหยัดพลังงานความร้อนในอุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ: สมาคมฯ.

สุริยะ สุขรินทร์, พงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา และ สถาพร ทองวิค. (2554). การศึกษาความเหมาะสมในการใช้งานของแผ่นผลิตน้ำร้อนแบบแผ่นเรียบและแบบหลอดแก้วสุญญากาศ. การประชุมวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7. หน้า 1017.