การพัฒนาความสามารถในการโต้แย้งและการคิดวิเคราะห์ จากการเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์โดยใช้การเรียน แบบผสมผสานตามรูปแบบสมองเป็นฐานกับการเรียนแบบปกติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีเพศต่างกัน

Main Article Content

ยุพาภรณ์ ภักดีชน
ชัยภัทร พลายบัว
จีระพรรณ สุขศรีงาม

บทคัดย่อ

การเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาความสามารถในการโต้แย้ง การคิดวิเคราะห์ และการคิดในขั้นสูง รวมทั้งพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมประชาธิปไตยของนักเรียน จึงควรพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม การศึกษาครั้งนี้ จึงมีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความสามารถในการโต้แย้งและการคิดวิเคราะห์ จากการเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ โดยใช้รูปแบบการเรียน 2 วิธี ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 80 คน จาก 2 ห้องเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ได้จากการสุ่มแบบกลุ่ม นักเรียน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลอง 40 คน เรียนแบบผสมผสานตามรูปแบบสมองเป็นฐาน และกลุ่มควบคุม 40 คน เรียนแบบปกติ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลนักเรียนที่มีเพศต่างกัน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ เรื่อง การอุ้มบุญ การใช้ถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า การบริจาคอวัยวะ อย่างละ 3 แผน แผนละ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จำนวน 9 แผน (การทดสอบก่อนและหลังเรียน) และประเด็นการปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อเป็นพลังงานทางเลือก (การทดสอบหลังเรียน) 2) แบบประเมินความสามารถในการโต้แย้ง และแบบทดสอบวัดการคิดวิเคราะห์ สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ Paired t-test และ F-test (Two-way MANCOVA) และ F-test (Two-way ANCOVA)


ผลวิจัยปรากฏ ดังนี้ 


            นักเรียนโดยส่วนรวม นักเรียนเพศชายและเพศหญิง ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีการพัฒนาความสามารถในการโต้แย้งจากการสอบ ครั้งที่ 1 - 4 เพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์โดยรวมและรายด้านทั้ง 3 ด้าน เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียน (P<0.01)  นักเรียนเพศชาย มีความสามารถในการโต้แย้ง มากกว่า แต่มีการคิดวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์น้อยกว่านักเรียนเพศหญิง (P<0.01) นักเรียนกลุ่มทดลอง มีเฉพาะการคิดวิเคราะห์โดยรวมและ ด้านความสำคัญมากกว่านักเรียนกลุ่มควบคุม (P<0.05) แต่นักเรียนทั้งสองกลุ่มมีความสามารถในการโต้แย้งและการคิดวิเคราะห์ทั้ง 2 ด้านไม่แตกต่างกัน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับรูปแบบการเรียนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ต่อความสามารถในการโต้แย้งและการคิดวิเคราะห์โดยรวมและรายด้านทั้ง 3 ด้าน (P>0.05)


โดยสรุป รูปแบบการเรียนแบบผสมผสานตามรูปแบบสมองเป็นฐานสามารถพัฒนาการโต้แย้งและการคิดวิเคราะห์โดยรวมของนักเรียนได้อย่างเหมาะสม จึงควรสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูวิทยาศาสตร์นำรูปแบบการเรียนนี้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ในระดับชั้นอื่น ๆ ต่อไป

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กระทรวงศึกษาธิการ. (2549). คู่มือการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน.

ไพฑูรย์ สุขศรีงาม. (2553).เอกสารแนะนำโปรแกรม SPSS: เอกสารประกอบรายวิชา 1601501 Statistic methods for sciences and health sciences. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. (2538). เทคนิคการวิจัยทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร:ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ.

วิทยากร เชียงกูล. (2547). เรียนลึกรู้ไวใช้สมองอย่างมีประสิทธิภาพ. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.