จริยธรรมการตีพิมพ์
วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ผลงานวิจัย งานวิชาการ ที่ให้ความสำคัญในด้านการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ทุกระดับ โดยผลการวิจัยนั้นต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ สามารถขยายผลความสำเร็จไปยังพื้นที่อื่น หรือให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ มีกระบวนการทำงานที่มีความเกี่ยวโยงอย่างเป็นระบบของ ผู้นิพนธ์ บรรณาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความและฝ่ายประสานงานและจัดการ เพื่อให้นักวิจัย นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่สนใจ ได้เผยแพร่งานวิชาการเป็นไปอย่างถูกต้อง มีคุณภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล เป็นหลักประกันคุณภาพผลงานวิชาการที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนได้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับมาตรฐานวิชาการในระดับนานาชาติ และเป็นการรักษามาตรฐานทางจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่
กองบรรณาธิการวารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จึงกำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติที่ดี รวมถึงจริยธรรมของการเผยแพร่ผลงานวิชาการไว้สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินงานของวารสารและผู้เกี่ยวข้อง โดยกำหนดบทบาทหน้าที่สำหรับบุคคล 3 กลุ่ม ที่อยู่ในวงจรปกติและหลักเกณฑ์ของการเผยแพร่วารสาร ได้แก่ ผู้นิพนธ์ (Authors) บรรณาธิการวารสาร (Editor) และผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (Peer-Reviewers) ดังนี้
บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Duties of Authors)
1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่เผยแพร่เป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน
2. ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานผู้อื่นถ้ามีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในบทความของตนเอง ผ่านการอ้างอิงและบรรณานุกรมทุกครั้งเพื่อแสดงหลักฐานการค้นคว้า
3. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามองค์ประกอบ รูปแบบ และหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนด (คำแนะนำสำหรับผู้เขียนฯ)
4. ผู้นิพนธ์ต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดจากการทำวิจัยหรือการค้นคว้าทางวิชาการ ด้วยความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลเท็จ ไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือสิทธิมนุษยชน
5. ผู้นิพนธ์ต้องไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเดียวกันไปเผยแพร่ในวารสารวิชาการมากกว่าหนึ่งฉบับ รวมถึงไม่คัดลอกข้อความใดจากผลงานของตนโดยอ้างอิงผลงานเดิมตามหลักวิชาการในลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นผลงานใหม่
6. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัยในบทความ กรณีที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากแหล่งทุน
7. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องมีส่วนในการวิจัย ค้นคว้า และเขียนบทความร่วมกันจริง
8. ผู้นิพนธ์ต้องแจ้งผลประโยชน์ทับซ้อนที่มีในบทความให้กองบรรณาธิการทราบ ตั้งแต่เริ่มต้นส่งต้นฉบับบทความ
9. ผู้นิพนธ์ต้องยื่นหลักฐานแสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของสถาบันที่ดำเนินการหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หากบทความมีการใช้ข้อมูลจากการทำวิจัยในมนุษย์และสัตว์
10. ผู้นิพนธ์ต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาบทความ การประเมินบทความ และการดำเนินงานของวารสารไม่ว่าทางหนึ่งทางใด
11. บทความวารสารที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความให้เป็นอันตกไป ไม่สามารถนำมาประเมินใหม่ หรือนำเสนอใหม่ได้อีกครั้งไม่ว่ากรณีใด ถึงแม้ว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงตามข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความแล้วก็ตาม
12. ผู้นิพนธ์ต้องยินยอมให้ วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ตรวจสอบการคัดลอกผลงานวิชาการโดยใช้ระบบอักขราวิสุทธิ์ หรือระบบ CopyCatch หรือระบบ Turnitin อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ผลงานวิชาการที่มีเนื้อหาคล้ายกันสามารถยอมรับได้ต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของผลงานทั้งหมด ถึงจนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตีพิมพ์
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Duties of Editor)
1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองคุณภาพของบทความเพื่อเผยแพร่ในวารสารที่รับผิดชอบ
2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ ให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
3. บรรณาธิการมีหน้าที่เผยแพร่บทความในวารสารให้เป็นไปตามรูปแบบ องค์ประกอบ และหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนด
4. บรรณาธิการต้องตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์ หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ
5. บรรณาธิการต้องไม่เผยแพร่บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่แล้ว
6. บรรณาธิการต้องไม่เผยแพร่บทความของตนเองในวารสารที่รับผิดชอบขณะเป็นบรรณาธิการ
7. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ และทีมผู้บริหาร
8. บรรณาธิการต้องมีหน้าที่กำกับดูแลไม่ให้เกิดการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาบทความ การประเมินบทความ และการดำเนินงานของวารสารไม่ว่าทางหนึ่งทางใด
9. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น
10. หากตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้นๆ
บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (Duties of Reviewers)
1. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ (Confidentiality)
2. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความ หากพบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ที่ตนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ ที่ปรึกษา หรือเหตุผลอื่นที่ไม่อาจให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้
3. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาหรือเรื่องที่ตนเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความต่อสาขาวิชา หรือเรื่องที่ตนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ รวมถึงคุณภาพของการวิเคราะห์และความเข้มข้นของผลงาน ไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความวิจัย
4. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องประเมินบทความตามหลักเกณฑ์ที่วารสารกำหนดภายใต้หลักวิชาการ ปราศจากอคติ ประเมินบทความตามข้อเท็จจริง ไม่จงใจเบี่ยงเบนผลการประเมิน และไม่ถือความคิดเห็นส่วนตนที่ไม่มีข้อมูลมารองรับอย่างเพียงพอ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินผลการประเมินบทความ
5. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องประเมินและวิจารณ์เนื้อหาเชิงวิชาการและให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เขียนนิพนธ์ในเชิงรายละเอียด เพื่อการปรับปรุงแก้ไขบทความโดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นสำคัญ
6. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องระบุผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการที่สำคัญ ๆ และสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมิน แต่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึงเข้าไปในการประเมินบทความด้วย นอกจากนี้ หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
7. ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความต้องไม่แทรกแซงกระบวนการพิจารณาบทความ การประเมินบทความและการดำเนินงานของวารสารไม่ว่าทางหนึ่งทางใด
นโยบายจริยธรรมวิจัยในมนุษย์และสัตว์ (Human and animal research ethics policy)
บทความจากงานวิจัยที่ส่งเข้ามารับการตีพิมพ์และเกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์และสัตว์ ต้องได้รับการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือในสัตว์ของสถาบันที่ดำเนินการหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย
ปรับปรุง : เมษายน 2567