ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ในการป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนชายแดนไทย-ลาว จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์

Main Article Content

ภีรวัฒน์ นนทะโชติ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว เพื่อสร้างและประเมินยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ และเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ในการป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในเขตพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนชายแดนไทย-ลาว จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ด้วยเทคนิคการวิจัยแบบผสานวิธีระหว่างวิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเป็นประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลม่วงเจ็ดต้น อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 360 คน คัดเลือกด้วยวิธีสุ่มแบบแบ่งชั้นและแบบสะดวก เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ที่มีบทบาททางสังคม 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ผู้ประกอบการผู้นำชุมชน และตัวแทนผู้ใช้แรงงาน จำนวน 59 คน ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ส่วนการสร้างยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ ใช้การประชุมเชิงปฏิบัติการและประเมินความเหมาะสมของยุทธศาสตร์โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าว ในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับชาติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา 


ผลการวิจัยพบว่า ผลกระทบของแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวในเขตพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนชายแดนไทย-ลาว จุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ย (= 3.12, S.D = 0.70)  โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือด้านสาธารณสุขชุมชน (= 3.85, S.D = 0.38) ผลการสร้างยุทธศาสตร์ ได้ยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ในการป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวภายใต้แนวคิด “การสร้าง การส่งเสริม การพัฒนา และการติดตามประเมินผล” สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย มุ่งเน้นการดำเนินงานป้องกันปัญหาแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวในพื้นที่แบบบูรณาการหลายภาคส่วน ครอบคลุมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้งในระดับพื้นที่ จังหวัด และรัฐบาล

Article Details

บท
บทความวิจัย
Author Biography

ภีรวัฒน์ นนทะโชติ, Uttaradit Rajabhat University

Faculty of Humanities and Social sciencesUttaradit Rajabhat University