จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (Publication Ethics) 

เรียบเรียงจาก https://publicationethics.org/

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. ผู้นิพนธ์ต้องไม่ส่งบทความที่เคยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน ไม่ส่งต้นฉบับบทความซ้ำซ้อนเพื่อรับพิจารณาจากวารสารวิชาการหลายฉบับในเวลาเดียวกัน 
  2. ผู้นิพนธ์ต้องคำนึงถึงจริยธรรมการวิจัย ต้องไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
  3. ผู้นิพนธ์จะจัดทำต้นฉบับของบทความตาม "คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์” ที่วารสารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
  4. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อในบทความจะต้องเป็นผู้มีส่วนในการจัดทำบทความหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัย
  5. ผู้นิพนธ์จะต้องอ้างอิงเนื้อหา ภาพ หรือตาราง ที่มีการนำมาใช้ในบทความของตนเอง โดยให้ระบุอ้างอิงถึง “ที่มา” เพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดี จะถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์แต่เพียงผู้เดียว ทางวารสารฯ จะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
  6. ผู้นิพนธ์จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง และควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม ไม่ควรอ้างอิงเอกสารมากหรือน้อยเกินไป
  7. ผู้นิพนธ์จะต้องแก้ไขบทความตามผลประเมินจากผู้ประเมินบทความที่เป็นทรงคุณวุฒิในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและกองบรรณาธิการอย่างครบถ้วน และแก้ไขบทความให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
  8. ผู้นิพนธ์จะต้องระบุชื่อแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุนในการทำวิจัย (ถ้ามี) และจะต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
  9. ผู้นิพนธ์จะต้องไม่รายงานข้อมูลในบทความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข้อมูลเท็จ หรือการปลอมแปลง บิดเบือน รวมไปถึงการตกแต่ง หรือ เลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป
  10. ผู้นิพนธ์ไม่ควรอ้างอิงเอกสารที่ถูกถอดถอนออกไปแล้ว (Retracted) เว้นแต่ข้อความที่ต้องการสนับสนุนนั้นเป็นข้อความที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการถอดถอน และจะต้องระบุไว้ใน เอกสารอ้างอิงด้วยว่าเป็นเอกสารที่ได้ถูกถอดถอนออกไปแล้ว

 

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการจะพิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยจะต้องคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์หลังจากผ่านกระบวนการประเมินบทความแล้ว โดยพิจารณาจากความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสารเป็นสำคัญ และจะต้องมีข้อความรู้ที่สะท้อนมุมมอง แนวคิดเชิงทฤษฎีที่ได้จากประสบการณ์ การสังเคราะห์เอกสาร หรืองานวิจัย มุ่งเน้นการนำเสนอแนวคิดทฤษฎีใหม่รวมถึงแบบจำลองเชิงแนวคิด (Conceptual Model) ที่ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันจะนำไปสู่การวิจัยในหัวข้อวิชาการที่สำคัญ
  2. กองบรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
  3. กองบรรณาธิการจะไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว และจะต้องทำการตรวจสอบการคัดลอกผลงาน (plagiarism) อย่างจริงจัง โดยใช้โปรแกรมที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น และหากตรวจพบการคัดลอกผลงาน กองบรรณาธิการจะต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้นิพนธ์หลักทันที เพื่อขอคำชี้แจง และนำคำชี้แจงนั้นไปประกอบการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความนั้นๆ
  4. กองบรรณาธิการจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ และผู้ประเมิน
  5. กองบรรณาธิการจะต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
  6. บรรณาธิการจะพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง และให้ผลที่น่าเชื่อถือ โดยนำผลของการวิจัยมาเป็นตัวชี้นำว่า สมควรตีพิมพ์เผยแพร่หรือไม่
  7. หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้นิพนธ์ปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้นิพนธ์ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
  2. เมื่อได้รับมอบหมายให้บทความเพื่อประเมินบทความที่ตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์อันจะทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้นๆ
  3. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่มีต่อสาขาวิชานั้น ๆ คุณภาพของการวิเคราะห์ และความเข้มข้นของผลงาน ผู้ประเมินบทความอาจระบุผลงานวิจัยที่สำคัญและสอดคล้องกับบทความที่กำลังประเมินแต่ผู้นิพนธ์ไม่ได้อ้างถึงเข้าไปในการประเมินบทความด้วย และทำการประเมินบทความโดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
  4. ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่นำข้อมูลบางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
  5. เมื่อพบว่ามีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนกันหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ