การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมกูเกิลเอิร์ธเพื่อการศึกษาการปกคลุมของเรือนยอดต้นไม้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
คำสำคัญ:
ภาพถ่ายดาวเทียมกูเกิลเอิร์ธ, การปกคลุมเรือนยอดต้นไม้, การแปลตีความด้วยสายตาบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ การศึกษาการปกคลุมของเรือนยอดต้นไม้โดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมกูเกิลเอิร์ธด้วยการแปลตีความด้วยสายตาในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) การศึกษานี้ได้เน้นการแปลตีความเรือนยอดจามจุรีและต้นไม้อื่นๆ โดยใช้ภาพที่ถูกบันทึกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 และทำการประเมินความถูกต้องด้วยการตรวจสอบทางภาคสนาม และจากนั้นคำนวณพื้นที่การปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้จามจุรีและต้นไม้อื่นๆ และค่าปริมาณการจับฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จากโปรแกรม i-Tree canopy ผลการศึกษา พบว่า การแปลตึความด้วยสายตาสำหรับการศึกษาการปกคลุมเรือนยอดนี้ จะต้องอาศัยองค์ประกอบลักษณะเด่น คือ ด้านรูปร่าง (Shape) ที่มีการปกคลุมแผ่กว้างประมาณ 5-15 ตร.ม. และเนื้อภาพ (Texture) มีความละเอียดที่ค่อนข้างมากกว่าเรือนยอดต้นไม้อื่นๆ ส่วนการกระจายการปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้มีความหนาแน่นอย่างมากในบริเวณที่พักอาศัย โดยเรือนยอดของต้นจามจุรีมีลักษณะลำต้นขนาดใหญ่และมีอายุหลายปี โดยจะแผ่กิ่งก้านออกไปได้ไกลและส่วนปลายปรกลงมาคลุมดินหรือขนานกับพื้นดินเล็กน้อยเกิดเป็นรูปทรงที่สะดุดตา ซึ่งเหมาะกับการปลูกในบริเวณที่ต้องการร่มเงา และส่วนลักษณะการปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้อื่นๆ พบกระจายอยู่ทั่วไปตามอาคารสำนักงานและที่พักอาศัย โดยลำต้นและเรือนยอดมีขนาดเล็กเพราะเป็นต้นไม้จากที่อื่นและนำมาปลูกเพื่อความสวยงามของภูมิทัศน์ในมหาวิทยาลัย มทร.อีสาน สำหรับพื้นที่การปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้มีทั้งหมด 88.46.ไร่ (26.80%) โดยแบ่งเป็นต้นจามจุรี 12.15 ไร่ (3.68%) และต้นไม้อื่นๆ 23.13 ไร่ (76.31%) และพื้นที่ที่ไม่มีการปกคลุมเรือนยอดของต้นไม้ 241.54 ไร่ (73.19%) นอกจากนี้จากการคำนวณของโปรแกรม i-Tree Canopy ได้ค่าการจับฝุ่น PM 2.5 ของการปกคลุมเรือนยอดต้นไม้ทั้งหมด 3,658.67 ออนซ์ โดยเป็นเรือนยอดต้นจามจุรี 991.72 ออนซ์ (27.11%) และเรือนยอดต้นอื่นๆ 2,666.95 ออนซ์ (72.89%) ดังนั้นงานวิจัยนี้หวังว่าจะเป็นสารสนเทศเชิงพื้นที่สำหรับการจัดการพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย มทร.อีสานต่อไป
