การประเมินศักยภาพชุมชนต้นแบบเพื่อการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า ในพื้นที่จังหวัดพะเยา

ผู้แต่ง

  • รังสรรค์ เกตุอ๊อต สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 56000
  • บุญศิริ สุขพร้อมสรรพ์ สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 56000
  • นิติ เอี่ยมชื่น สาขาวิชาภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา 56000

คำสำคัญ:

ประเมินศักยภาพ, ชุมชนต้นแบบ, หมอกควันและไฟป่า

บทคัดย่อ

การศึกษาและประเมินศักยภาพชุมชนต้นแบบด้านการจัดการไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดพะเยา จากทั้ง 9 อำเภอๆ ละ 2 ชุมชน รวม 18 ชุมชน มีวิธีการศึกษาโดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่ทางผู้ศึกษาได้จัดทำขึ้นจากการรวบรวมเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง นำมาสังเคราะห์เป็นแบบสัมภาษณ์ที่ประกอบด้วย 5 เกณฑ์ คือ แผนชุมชน ข้อตกลงป่าชุมชน กิจกรรมที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน การสื่อสารประชาสัมพันธ์ในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน และการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน จากนั้นลงพื้นที่สำรวจระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2563 แล้วนำมาสรุปเป็นผลการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน พร้อมทั้งปัจจัยด้านบวก (ศักยภาพที่มีอยู่และกลไกการหนุนเสริม) และปัจจัยด้านลบ (ข้อจำกัดและอุปสรรค)
ผลการศึกษาพบว่า การดำเนินการดูแลรักษาป่าของชุมชนล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากความต้องการที่จะอนุรักษ์ป่าเพื่อให้เป็นมรดกของลูกหลานของชุมชนทั้งสิ้น การสนับสนุนจากภายนอกเป็นเพียงส่วนหนุนเสริมเท่านั้น โดยชุมชนส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันในวิธีการเฝ้าระวังไฟป่าและหมอกควัน ในช่วงที่ทางจังหวัดมีประกาศห้ามเผา ชุมชนจะร่วมกันทำแนวกันไฟ หรืออาจชิงเผาก่อนที่จะมีประกาศจังหวัด การจัดตั้งจุดเฝ้าระวังไฟป่า และคัดกรองบุคคลเข้าออกป่าชุมชน ส่วนการดูแลรักษาป่าในช่วงเวลาปกตินั้น ชุมชนมีการกำหนดกฎระเบียบและข้อตกลงร่วมกันของชุมชนในการดูแลรักษาป่า ข้อห้ามและบทลงโทษต่างๆ รวมทั้งข้ออนุญาตในการใช้ประโยชน์จากป่า ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะทางอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และส่วนราชการโดยเฉพาะกรมป่าไม้ที่ดูแลป่าสงวนแห่งชาติ และกรมอุทยานฯ ที่มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตั้งอยู่ติดกับชุมชน จะเข้ามาหนุนเสริมการดูแลรักษาป่า การลาดตระเวนและเฝ้าระวังไฟป่าร่วมกับชุมชน เพื่อให้ป่าชุมชนทำหน้าที่เป็นกันชน (Buffer) ในการรักษาพื้นที่อุทยานฯ แต่ทั้งนี้ระดับและความต่อเนื่องของการสนับสนุนอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

01/15/2021