มุมมองด้านต้นทุนวัฒนธรรมของชุมชนโบราณ: กรณีศึกษาตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา
คำสำคัญ:
พระธาตุขิงแกง, พะเยา, วัฒนธรรมท้องถิ่น, สำรวจบทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมต้นทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนขนาดเล็กแต่มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเองยาวนานอย่างตำบลพระธาตุขิงแกง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา เพื่อเปิดโอกาสให้มีการบันทึกและเผยแพร่ผลการศึกษาอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ การศึกษาใช้เทคนิคแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-Structured Interview) แบ่งผู้ให้ข้อมูลออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้นำทางศาสนา ได้แก่ พระนักบวช จำนวน 2 รูป และกลุ่มผู้รู้ได้แก่ ปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา (รับผิดชอบตำบลพระธาตุขิงแกง) จำนวน 13 คน ผลการวิจัยพบว่าวัฒนธรรมเด่นของตำบลพระธาตุขิงแกงมีจำนวน 8 เรื่อง แบ่งเป็น 6 ประเภท (จัดแบ่งตามแนวทางการสำรวจด้านวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม) ประกอบด้วย คณะช่างฟ้อนเล็บพระธาตุขิงแกง การทำกะโล้ การทำล้อเวิ่น ผ้าทอมือตีนจกแม่วังช้าง ตำนานพระธาตุขิงแกง การเล่นล้อหริ่ง ประเพณีสรงน้ำพระธาตุขิงแกง และป่าตะเคียนงาม จากเดิมการจัดเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมีเพียงการบอกเล่าและพึ่งพาเพียงการจดจำทำให้เสี่ยงต่อการสูญหาย แต่งานวิจัยนี้ทำการบันทึกผลการศึกษาอย่างเป็นระบบแล้วพรรณนาข้อมูลตามหลักวิชาการ และมีการรายงานผลคืนข้อมูลให้กับชุมชนในรูปแบบแผ่นพับที่สวยงามมีความร่วมสมัยสามารถใช้ประชาสัมพันธ์ตำบลพระธาตุขิงแกงได้เป็นอย่างดี การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของชุมชน (SWOT analysis) พบว่ามีจุดแข็งหลายประการในอันที่จะสนับสนุนการธำรงไว้ซึ่งทุนทางวัฒนธรรมของตนเอง เช่น มีพระธาตุขิงแกงอายุเก่าแก่เป็นศูนย์รวมจิตใจชุมชน มีผู้นำทางศาสนาที่เป็นปราชญ์ท้องถิ่น เป็นต้น
