การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย กรณีศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี
คำสำคัญ:
การประเมินความเสี่ยง, พื้นที่เสี่ยง, หลุมยุบ, ภาคใต้, จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการเกิดภัยพิบัติหลุมยุบ อันจะนำมาสู่การประเมินพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติหลุมยุบในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเสนอแนวทางในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากหลุมยุบในอนาคต ซึ่งข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ประกอบด้วยข้อมูลปฐมภูมิและข้อมูลทุติยภูมิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และหน่วยงานกลาง ประกอบกับแบบประเมินปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากผู้เชี่ยวชาญ โดยงานวิจัยครั้งนี้ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เชิงพื้นที่แบบ PSA (Potential Spatial Analysis) ในการซ้อนทับข้อมูลปัจจัยโดยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ GIS ผลการศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญจากการให้ค่าถ่วงน้ำหนักและค่าคะแนนของผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยหลุมยุบมากที่สุด คือ ปัจจัยความหนาแน่นของจุดตำแหน่งการเกิดหลุมยุบในอดีต 10 ปีย้อนหลัง เนื่องจากพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของการเกิดหลุมยุบสูงนั้น แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ตั้งหรือลักษณะภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกัน จึงมีประวัติการเกิดและตำแหน่งการเกิดที่ค่อนข้างถี่ และถือเป็นพื้นที่เสี่ยงเป็นอย่างมาก และปัจจัยที่สำคัญรองลงมาคือ ปัจจัยระยะห่างจากจุดตำแหน่งการเกิดหลุมยุบในอดีต 10 ปีย้อนหลัง ความหนาแน่นของแหล่งบาดาล ระยะห่างจากจุดตำแหน่งที่ตั้งน้ำบาดาล ข้อมูลกลุ่มชุดดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง และปัจจัยความลาดชัน ตามลำดับความสำคัญ เมื่อทำการซ้อนทับปัจจัยทั้งหมด เพื่อจำแนกระดับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติหลุมยุบ ผลการศึกษาพบว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เสี่ยงหลุมยุบต่ำมาก ต่ำ ปานกลาง สูง และสูงมากตามลำดับ และเมื่อวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงรายอำเภอ ทั้งหมด 19 อำเภอ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า อำเภอที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบมากที่สุด คือ อำเภอเวียงสระ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอเคียนซา ตามลำดับความเสี่ยง และพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบต่ำมาก หรือแทบจะมีโอกาสเกิดที่น้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ คือ อำเภอเกาะพะงัน อำเภอบ้านตาขุน และอำเภอพนม ตามลำดับความเสี่ยง สำหรับแนวทางโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติหลุมยุบในจังหวัดสุราษฎร์ธานี พบว่า ทั้งหน่วยงานท้องถิ่นและหน่วยงานกลางระดับจังหวัดนั้น ยังไม่ให้ความสำคัญแก่ปัญหาดังกล่าว เนื่องจากสถิติการเกิดหลุมยุบนั้น พื้นที่ที่เกิดส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ว่างเปล่า เป็นหลัก แสดงเห็นถึงการมองข้ามปัญหาภัยพิบัติอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น และขาดถึงการบริหารจัดการอย่างถูกต้องเพื่อลดความเสียหายในอนาคต
