ความแม่นยำของการพยากรณ์ค่าความกดอากาศที่ระดับทะเลปานกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2562 ในประเทศไทย ด้วยแบบจำลองสภาพอากาศ (WRF)
คำสำคัญ:
ความกดอากาศที่ระดับทะเลปานกลาง, แบบจำลองอากาศ WRF, ความแม่นยำของแบบจำลองบทคัดย่อ
ความกดอากาศที่ระดับทะเลปานกลาง คือความกดอากาศเทียบกับระดับมาตรฐาน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ควบคุมสภาพอากาศ ซึ่งในการพยากรณ์สภาพอากาศเป็นเรื่องสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ช่วยในการวางแผนการเดินทางของนักท่องเที่ยว การทำเกษตร การคมนาคม รวมไปถึงการเฝ้าระวังภัยธรรมชาติ ดังนั้นต้องอาศัยความแม่นยำของการพยากรณ์ ที่จะส่งผลให้การติดตามสถานการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความน่าเชื่อถือ ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาความแม่นยำของการพยากรณ์ค่าความกดอากาศที่ระดับทะเลปานกลาง ด้วยแบบจำลองสภาพอากาศ WRF โดยใช้ข้อมูลสภาพอากาศ (Gridded atmospheric data) จาก Global Forecast System (GFS) เช่น ลม อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศที่ระดับทะเลปานกลาง เพื่อใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับเป็นสภาวะเริ่มต้นหรือเงื่อนไขเริ่มต้นและเงื่อนไขขอบเขต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากแบบจำลองนั้นเป็นข้อมูลรายวัน ในเดือนพฤษภาคม 2562 และวิธีทางสถิติที่นำมาใช้ในการทดสอบความแม่นยำของแบบจำลองคือ ค่า Root mean square error (RMSE) Mean error (ME) Mean percentage error (MPE) Mean Absolute Percentage Error (MAPE) %Average Accuracy และ Nash-Sutcliffe efficiency (NSE) โดยนำผลการพยากรณ์จากแบบจำลอง WRF เทียบกับค่าตรวจวัดจริงจากสถานีอุตุนิยมวิทยา 118 สถานี ในประเทศไทย
จากผลการศึกษาพบว่าการประเมินค่า RMSE ME MPE MAP %Average Accuracy และค่า NSE ให้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยแสดงให้เห็นว่า แบบจำลอง WRF มีความถูกต้องสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำมากกว่าการใช้ค่าเฉลี่ย แบบจำลองให้ค่าความกดอากาศที่ระดับทะเลปานกลางมากกว่าค่าจริงที่ได้จากการตรวจวัดทางอุตุนิยมวิทยา ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่มีสภาพอากาศภายในประเทศไม่แตกต่างกันมากนั้น พบว่าเกณฑ์ประเมินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวิเคราะห์ความแม่นยำแบบจำลองสภาพอากาศ คือค่า RMSE และ ME เนื่องจากสามารถบอกความแตกต่างของค่าพยากรณ์กับค่าจริงในสเกลขนาดเล็กของแต่ละภาคในประเทศไทยได้ชัดเจนมากกว่าเกณฑ์อื่น ๆ และเมื่อใช้เกณฑ์ในการประเมินที่มากขึ้น อาจทำให้ค้นพบคุณสมบัติเพิ่มเติมของแบบจำลองได้
