การผลิตแก๊สชีวภาพจากเศษหญ้าในสนามกอล์ฟเขาชะโงกโดยถังหมักขนาดเล็ก

Main Article Content

ภัทรียา ตัณฑิกุล

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศักยภาพการผลิตแก๊สชีวภาพจากเศษหญ้า และเศษหญ้าร่วมกับมูลวัวโดยถังหมักขนาดเล็ก ศึกษาศักยภาพของแก๊สชีวภาพที่ผลิตได้ในการจุดติดไฟ และศึกษาการปรับปรุงคุณภาพแก๊สชีวภาพที่ผลิตได้ให้สามารถจุดติดไฟและใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้มในระดับครัวเรือนได้ โดยทำการหมักแก๊สชีวภาพจากวัสดุหมักประเภทเดียวคือ มูลวัวอย่างเดียว เศษหญ้าอย่างเดียว และวัสดุหมัก 2 ประเภท คือ เศษหญ้าร่วมกับมูลวัวในอัตราส่วน 1 : 3 และ 1 : 1 ทำการบันทึกปริมาตรแก๊สชีวภาพที่ผลิตได้จากวัสดุหมักแต่ละประเภทและทดสอบการติดไฟของแก๊สชีวภาพจากถังรับแก๊สโดยตรง แก๊สชีวภาพที่จุดไฟไม่ติดหรือการลุกไหม้ไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอจะทำการปรับปรุงคุณภาพแก๊สชีวภาพ โดยการให้แก๊สชีวภาพผ่านสารเคมีแตกต่างกัน 4 วิธี เพื่อกำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ คือ วิธีที่ 1 ผ่านโซเดียมไฮดรอกไซด์ ปริมาณ 100 กรัมที่บรรจุในกระบอกพีวีซี วิธีที่ 2 ผ่านสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ ปริมาณ 1.5 ลิตรที่บรรจุในขวดแก้ว วิธีที่ 3 ผ่านสารละลายแคลเซียมไฮดรอกไซด์ ปริมาณ 1.5 ลิตรที่บรรจุในขวดแก้ว และวิธีที่ 4 ผ่านสารละลายแคลเซียม-ไฮดรอกไซด์ ปริมาณ 200 ลิตรที่บรรจุในชุดถังรับแก๊ส แล้วทำการทดสอบการติดไฟและการใช้งานกับเตาหุงต้มแบบครัวเรือนของแก๊สชีวภาพที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแต่ละวิธี จากการวิจัยพบว่า การหมักแก๊สชีวภาพจากเศษหญ้าร่วมกับมูลวัวในอัตราส่วน 1 : 1 ปริมาตรแก๊สชีวภาพที่ผลิตได้เฉลี่ยสูงสุด 48.63 ลิตร/วัน แก๊สชีวภาพที่ผลิตได้จุดติดไฟ เปลวไฟสีฟ้าไม่นิ่ง การลุกไหม้ไม่ต่อเนื่อง ดับง่าย ไม่มีเขม่า เมื่อผ่านการปรับปรุงคุณภาพแก๊สชีวภาพวิธีที่ 1, 2 และ 4 ทำให้คุณภาพแก๊สชีวภาพดีขึ้นจุดติดไฟ เปลวไฟสีฟ้านิ่ง การลุกไหม้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่มีเขม่า และใช้กับเตาหุงต้มได้ดี แต่วิธีที่ 4 สะดวกในการใช้งานมากที่สุด เนื่องจากบรรจุสารละลายแคลเซียมไฮดรอกไซด์แทนน้ำในชุดถังรับแก๊ส ให้แก๊สชีวภาพจากถังหมักผ่านเข้ามาสัมผัสและเก็บในถังรับแก๊ส โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์และขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น ส่วนแก๊สที่ผลิตได้จากการหมักโดยใช้เศษหญ้าเป็นวัสดุหมักประเภทเดียวจุดไฟไม่ติด และเมื่อผ่านการปรับปรุงคุณภาพ แก๊สชีวภาพยังคงจุดไฟไม่ติด

Article Details

How to Cite
[1]
ตัณฑิกุล ภ., “การผลิตแก๊สชีวภาพจากเศษหญ้าในสนามกอล์ฟเขาชะโงกโดยถังหมักขนาดเล็ก”, Crma. J., ปี 11, ฉบับที่ 1, น. 123–135, พ.ค. 2013.
บท
บทความวิจัย

References

กรมโรงงานอุตสาหกรรม, 2553.คู่มือการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการออกแบบ การผลิต การควบคุมคุณภาพและการใช้แก๊สชีวภาพ (Biogas) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม.

นิพนธ์ ตังคณานุรักษ์และคณิตา ตังคณานุรักษ์, 2552.เคมีบรรยากาศ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ฤกษ์ฤทธิ์ เคนหาราช, 2548. การผลิตพลังงานจากชีวมวล: การผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงเลี้ยงสัตว์. กรุงเทพฯ : ส่วนยุทธศาสตร์นโยบายและแผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน.

บุญมา ป้านประดิษฐ์ และอรรถวุทธิ์ รื่นเริงใจ, มปป. ถังหมักมหัศจรรย์เพื่อครัวเรือน. www.eng.kps.ku.ac.th/powercenter/ : คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

จันทิมา ชั่งสิริพร นายชิตชนก คงแดง นายอนิรุทธ์ อารมณ์สุขโข และนางสาวกุลภัสสร์ จันทร์พิทักษ์, 2555.การผลิตแก๊สชีวภาพจากการหมักร่วมของมูลสุกรและของเสียจากการเกษตร. Research Utility Magazine : ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.

M.L.Nuckols, A.Purer, G.A.Deason, 1985. Techinical manual design guidelines for carbon dioxide scrubbers. Florida : Naval Coastal Systems Center.