จริยธรรมการตีพิมพ์
การดำเนินงานและจริยธรรมการตีพิมพ์ของวารสารวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
เมื่อกองบรรณาธิการได้รับบทความเพื่อพิจารณาตีพิมพ์จะจัดให้มีการกลั่นกรองเพื่อคัดเลือกเฉพาะบทความที่อยู่ในขอบข่ายการตีพิมพ์ของวารสารฯ และมีระดับคุณภาพที่ยอมรับได้ โดยบทความที่ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินแบบ Double-Blind Peer Review จากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความอย่างน้อย 2 ท่านจากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความจำนวน 3 ท่านและ/หรือ ผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการเป็นรายกรณี สำหรับบทความที่ได้รับการตอบรับอย่างมีเงื่อนไข ผู้นิพนธ์ของบทความนั้นต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลาที่กองบรรณาธิการระบุ บทความที่ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์จะถูกเผยแพร่ทั้งในแบบรูปเล่มและแบบ online บนเว็บไซต์ของวารสารฯ ผู้นิพนธ์แต่ละคนจะได้รับเล่มวารสารที่มีบทความของตน จำนวนคนละ 1 เล่ม การละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ส่งบทความโดยตรง
บทบาท หน้าที่และจริยธรรมของบรรณาธิการ (Duties and Ethics of Editors)
- บรรณาธิการต้องคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาของบทความที่ประเมิน สามารถประเมินและให้คำแนะนำต่อผู้นิพนธ์ได้เป็นอย่างดี
- บรรณาธิการต้องคัดเลือกบทความบนพื้นฐานของความเป็นองค์ความรู้ใหม่ ความสำคัญ และความสอดคล้องกับขอบเขตการตีพิมพ์ของวารสารฯ
- บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) หากตรวจพบการคัดลอกผลงาน บรรณาธิการต้องหยุดกระบวนการประเมินในทันที
- ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยชื่อผู้นิพนธ์ และชื่อผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง
- บรรณาธิการต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่ใดๆมาแล้ว
- บรรณาธิการต้องไม่ปฏิเสธการตีพิมพ์บทความด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากความสงสัยหรือไม่แน่ใจ โดยให้โอกาสผู้นิพนธ์ได้จัดหาหลักฐานมาพิสูจน์ข้อสงสัยที่มีอยู่
- บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์หรือผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ
บทบาท หน้าที่และจริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Duties and Ethics of Reviewers)
- ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความชำนาญเท่านั้น
- ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องประเมินบทความโดยพิจารณาความสำคัญของเนื้อหาในบทความที่จะมีต่อสาขาวิชานั้นๆ โดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวมาตัดสินบทความ
- ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องระบุผลงานวิจัยที่สำคัญต่อบทความที่ประเมิน นอกจากนี้หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ
- ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง
- ถ้าผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์ เช่น รู้จักผู้นิพนธ์เป็นการส่วนตัว เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็นและข้อแนะนำอย่างอิสระได้ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
บทบาท หน้าที่และจริยธรรมของผู้นิพนธ์ (Duties and Ethics of Authors)
- บทความที่ส่งมาขอตีพิมพ์ต้องเป็นบทความใหม่ของผู้นิพนธ์เอง ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน ไม่อยู่ในระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์โดยผู้ตีพิมพ์อื่นใด และเป็นไปตามจรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
- ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการวิจัยจริง
- หากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงผลงานเหล่านั้น
- ผู้นิพนธ์ต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่มีการบิดเบือน ไม่ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
- ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ (ถ้ามี)
- ผู้นิพนธ์ต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)
- ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความวิจัยให้ถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์บทความ”
ลิขสิทธิ์
ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ ถือเป็นลิขสิทธิ์ของวารสารฯ