Policy and Publication Ethics

นโยบายการตีพิมพ์ (Open Access Policy)

วารสาร PSRU Journal of Science and Technology เป็นวารสารแบบ Open access ที่ทำให้ผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง โดยวารสารไม่มีนโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ (Article Processing Charges) จากผู้เขียน 

 

นโยบายจริยธรรมการทดลอง (Research Integrity Policy)

บทความจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยในมนุษย์ ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยฯ จากสถาบันที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานการวิจัยในคน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเป็นไปตามมาตรฐานจริยธรรมและกฎหมายสากล  สำหรับการวิจัยในสัตว์ทดลองต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการพิจารณาจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์  เช่นกัน และอยู่ภายใต้หลักพระราชบัญญัติสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558

 

นโยบายการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest and Competing Interest Policy)

วารสาร PSRU Journal of Science and Technology มีนโยบายที่จะหลีกเลี่ยงต่อการขัดกันของผลประโยชน์ในกลุ่มกองบรรณาธิการ ผู้ประเมินบทความ  ผู้นิพนธ์บทความทุกท่าน เพื่อให้การตีพิมพ์บทความมีความโปร่งใสทางวิชาการ ดังนั้นหากมีกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความเกี่ยวข้องไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมต่อกระบวนพิจารณาบทความ ผู้นิพนธ์หลัก (Corresponding Author) ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน หรือแจ้งผ่านทางการส่งความข้อผ่านระบบเว็บไซด์วารสาร

 

จริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

          วารสาร PSRU Journal of Science and Technology ให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานด้านจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ จึงได้กำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ ได้แก่ บรรณาธิการวารสาร (Editor) ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และผู้นิพนธ์ (Author)  เพื่อศึกษาและการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด ดังนี้

       บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Editor) 

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองและตรวจสอบคุณภาพบทความที่ส่งมาเพื่อขอรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสาร
  2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  3. บรรณาธิการต้องไม่ปกปิด เปลี่ยนแปลง หรือแทรกแซงข้อมูลระหว่างผู้นิพนธ์และผู้ประเมิน
  4. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมิน
  5. บรรณาธิการต้องพิจารณาคัดเลือกบทความที่ส่งมาเพื่อขอรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารหลังผ่านกระบวนการประเมินคุณภาพ โดยพิจารณาจากความชัดเจนและความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสาร เป็นต้น
  6. บรรณาธิการต้องตรวจสอบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ และติดต่อผู้นิพนธ์หลักเพื่อขอคำชี้แจงในกรณีที่ตรวจสอบพบว่ามีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา “ตอบรับ” หรือ "ปฏิเสธ” การตีพิมพ์ของบทความนั้นๆ
  7. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด

       

       บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Reviewer)

  1. ผู้ประเมินบทความต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์ การประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพบทความตามหลักการและเหตุผลทางวิชาการเป็นสำคัญ โดยปราศจากอคติหรือคิดเห็นส่วนตัว
  2. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความแก่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  3. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ โดยพิจารณาจากความชัดเจนของข้อมูล คุณภาพของบทความที่สอดคล้องตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  4. ผู้ประเมินบทความต้องตรวจสอบการอ้างอิงและการคัดลอกผลงานของผู้อื่น หากพบว่าบทความที่ทำการประเมินมีความซ้ำซ้อนกับบทความชิ้นอื่นๆ ต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบและแสดงหลักฐานประกอบที่ชัดเจน
  5. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาการประเมินตามกรอบการประเมินที่วารสารกำหนด

       

       บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์ (Author)

  1. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าบทความที่ส่งมาเพื่อขอรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารนั้นต้องไม่เคยถูกตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน
  2. ผู้นิพนธ์ต้องรายงานผลที่เกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัยโดยไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  3. ผู้นิพนธ์ควรดำเนินการตามหลักจริยธรรม หลักปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องหากบทความเกี่ยวข้องกับการวิจัยในมนุษย์และสัตว์ (การใช้สัตว์ทดลอง ผู้เข้าร่วมหรืออาสาสมัคร หรือการวิจัยมีประเด็นที่เปราะบางต่อผู้ให้ข้อมูล) และผู้เขียนควรใส่ข้อความในต้นฉบับเกี่ยวกับได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมฯ
  4. ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น และต้องทำการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นทุกครั้งเมื่อนำผลงานเหล่านั้นมานำเสนอหรืออ้างอิงประกอบในบทความของตนเอง
  5. ผู้นิพนธ์ต้องเขียนบทความให้เป็นไปตามคำแนะนำในการเตรียมต้นฉบับและข้อกำหนดของ PSRU Journal of Science and Technology เท่านั้น
  6. ผู้นิพนธ์ที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคนต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในบทความนั้นจริง
  7. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยและระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

 

 ความรับผิดชอบ 

            เนื้อหาต้นฉบับที่ปรากฏในวารสาร  PSRU Journal of Science and Technology เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาด อันเกิดจากเทคนิคการจัดพิมพ์