สัณฐานวิทยาและความหลากหลายทางพันธุกรรมของแมลงวันผลไม้ กลุ่ม Bactrocera tau ซับซ้อน ในภาคใต้ของประเทศไทย

Authors

  • ปัทมา สมศิลป์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
  • ดวงตา จุลศิริกุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ภควดี รักษ์ทอง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
  • สังวรณ์ กิจทวี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Keywords:

Bactrocera tau ซับซ้อน, พันธุกรรมระดับโมเลกุล, สัณฐานวิทยาเชิงการวัด

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความผันแปรทางสัณฐานวิทยาและความหลากหลายทางพันธุกรรมของแมลงวันผลไม้กลุ่ม Bactrocera tau ซับซ้อน จากการเก็บตัวอย่างไม้ผลที่มีร่องรอยการถูกทำลายโดยแมลงวันผลไม้ นำมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการจนกระทั่งแมลงวันผลไม้มีการพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย นำแมลงวันผลไม้กลุ่ม B. tau ทั้งหมด 242 ตัว (เพศผู้ 116 ตัว และเพศเมีย 126 ตัว) จากไม้ผล 5 ชนิด คือ ฟักทอง (Cucurbita moschata, CM) มะระขี้นก (Momordica charantia, MCh) แตงโม (Citrullus  lanatus, CL) ฟักข้าว (Momordica cochinchinensis, MC) และแตงร้าน (Cucumis sativus, CS) ทำการศึกษาความผันแปรทางสัณฐานวิทยาเชิงการวัดของรูปร่างปีกด้วยเทคนิคจีโอเมทริก มอร์โฟเมทริกส์ (geometric morphometrics) โดยออกแบบตำแหน่งจุดตัดหลักของเส้นลายปีก 13 จุด บนตัวอย่างปีกแมลงวันผลไม้ ทำการเปรียบเทียบกับกลุ่มอ้างอิง B. tau A และ B. tau C ด้วยการวัดระยะห่างมาฮาลานอบิส (mahalanobis distance) และโพรครัสเทส (procrustes distance) แล้วยืนยันการจัดจำแนกอีกครั้งด้วยการวิเคราะห์จำแนกกลุ่ม (discriminant analysis) พบว่าแมลงวันผลไม้กลุ่ม B. tau ของภาคใต้ มีการแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ B. tau A, B. tau C และ B. tau ชนิดใหม่ นอกจากนี้ยังพบว่าผลการวิเคราะห์ทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถจัดจำแนกได้ในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการยืนยันผลข้างต้นจึงทำการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของยีนบริเวณไซโตโครมอ็อกซิเดสวัน (Cytochrome Oxidase I: COI) ด้วยเทคนิค SSCP (Single Strand Conformation Polymorphism)  พบว่ามีรูปแบบของพันธุกรรมที่แตกต่างกัน 23 รูปแบบ นำรูปแบบต่างๆ ไปหาลำดับนิวคลีโอไทด์เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการ (phylogenetic tree) ซึ่งยืนยันว่าแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม และให้ผลสอดคล้องกับผลการศึกษาความผันแปรทางสัณฐานวิทยาด้วยเทคนิคจีโอเมทริก มอร์โฟเมทริกส์ การพบ B. tau ชนิดใหม่อยู่ร่วมกับ B. tau C ในประชากรเดียวกันนั้น บ่งบอกว่าการแบ่งแยกสายพันธุ์ของ B. tau ซับซ้อนอยู่ในรูปการแบ่งแยกสปีชีส์แบบซิมแพทริก (sympatric speciation)

Downloads

How to Cite

สมศิลป์ ป., จุลศิริกุล ด., รักษ์ทอง ภ., & กิจทวี ส. (2016). สัณฐานวิทยาและความหลากหลายทางพันธุกรรมของแมลงวันผลไม้ กลุ่ม Bactrocera tau ซับซ้อน ในภาคใต้ของประเทศไทย. Life Sciences and Environment Journal, 16(2), 334–346. Retrieved from https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/psru/article/view/56671

Issue

Section

บทความวิจัย(วิทย์ฯ)