การตอบสนองของเพลี้ยไฟ Thrips palmi Karny (Thysanoptera: Thripidae) ต่อกับดักสีต่างๆ ในสวนกล้วยไม้
Keywords:
กับดักสี, กล้วยไม้, การสะท้อนของแสง, การควบคุมเพลี้ยไฟ Thrips palmiAbstract
เพลี้ยไฟเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของกล้วยไม้ในประเทศไทย กล้วยไม้สายพันธุ์ต่าง ๆ จะมี สีแตกต่างกันซึ่งมีผลต่อการดึงดูดเพลี้ยไฟ การศึกษานี้จึงตรวจสอบการตอบสนองของเพลี้ยไฟ Thrips palmi Karny ต่อกับดักสีต่างๆ 8 สีคือ แดง เขียว น้ำเงิน เหลือง ฟิวเซีย อควา ขาว และดำ รวมทั้ง สีพื้นหลัง จากการออกแบบด้วยระบบสี แดง เขียว น้ำเงิน (RGB system) เมื่อนำกับดักสีไปทำการทดลองในสวนกล้วยไม้ ปรากฏว่าไม่พบเพลี้ยไฟ T. palmi ที่กับดักสีแดง และดำ แต่พบเพลี้ยไฟ T. palmi บนกับดักอีก 6 สีที่เหลือ เมื่อวิเคราะห์จำนวนเพลี้ยไฟพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (F = 10.1, df = 5, 30, p<0.05) โดยเพลี้ยไฟ T. palmi ตอบสนองต่อกับดักสีน้ำเงินมากที่สุด รองลงมาเป็นกับดักสีอควา เหลือง ขาว เขียว และฟิวเซีย ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในการเปรียบเทียบคู่ต่างพบว่ากับดักสีน้ำเงินและสีอควาดักจับเพลี้ยไฟ T. palmi ได้ไม่แตกต่างกัน (LSD, p>0.05) ในขณะเดียวกันกับดักสีอควาดักจับเพลี้ยไฟ T. palmi ได้ไม่ต่างจากสีเหลืองและขาว (LSD, p>0.05) แต่สีอควาดักจับเพลี้ยไฟได้แตกต่างจากสีเขียว (LSD, p<0.05) สำหรับสีฟิวเซียเป็นสีที่ดึงดูดเพลี้ยไฟ T. palmi ได้น้อยที่สุดแตกต่างจากสีอื่น ๆ (LSD, p<0.05) จากนั้นจึงทำการวัดช่วงการสะท้อนของแสงจากสีของกับดักเปรียบเทียบกับสีของดอกไม้จริงเพื่อตรวจสอบช่วงการสะท้อนของแสงที่เหมือนกัน กล้วยไม้สายพันธุ์ Dendrobium White Fairy มีช่วงการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับกับดักสีน้ำเงิน อควา และขาว (400-450 นาโนเมตร) ส่วนกล้วยไม้สายพันธุ์ Mokara Sayan Duangporn พบช่วงการสะท้อนแสงใกล้เคียงกับกับดักสีเหลืองที่ 550-600 นาโนเมตร การศึกษานี้จึงบ่งชี้ว่า ดอกกล้วยไม้ Dendrobium White Fairy และ Mokara Sayan Duangporn มีโอกาสถูกทำลายโดย เพลี้ยไฟ T. palmi ได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ข้อมูลจากการวิจัยนี้จึงเป็นประโยชน์ในการหามาตรการควบคุมเพลี้ยไฟแมลงศัตรูของกล้วยไม้ต่อไป
Downloads
How to Cite
Issue
Section
License
Each article is copyrighted © by its author(s) and is published under license from the author(s).