วิธีการพัฒนาจิตตามแนวกสิณในพระพุทธศาสนาเถรวาท
Keywords:
กสิณ, วิธีการพัฒนาจิต, พระพุทธศาสนาเถรวาทAbstract
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษากสิณ 10 ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท (2) เพื่อศึกษาถึงวิธีการฝึกกสิณ 10 ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (3) เพื่อศึกษาวิธีการพัฒนาจิตตามแนวกสิณ 10 ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
โดยวิธีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท อันได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถาฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องจากการศึกษาพบว่ากสิณ 10 เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาเถรวาท จากบรรดากรรมฐานทั้งหมด 40 วิธี ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักวิธีการปฏิบัติเพื่อเป็นวิธีการฝึกอบรมจิตสำหรับพุทธสาวก เป็นกรรมฐานที่มีประสิทธิภาพมาก ทรงพลัง ทำให้จิตเกิดสมาธิได้เร็วมีอานิสงส์ และอานุภาพมากซึ่งวิธีการฝึกจิตตามแนวทางแห่งกสิณนั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อทำฌานให้เกิดขึ้นอีกทั้งยังใช้เป็นบาทฐานในการฝึกจิตเพื่อทำอภิญญาให้เกิดขึ้นได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ กสิณยังเป็นกรรมฐานที่สามารถฝึกจิตให้ถึงฌานได้เร็วกว่ากรรมฐานอื่น ๆ ทั้งนี้ก็ด้วยเพราะว่าการเพ่งกสิณนั้น อุคคหนิมิตและอุปจารสมาธิเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่ออุคคหนิมิตและอุปจารสมาธิเกิดง่าย การได้ฌานนั้นก็เร็วทั้งยังสามารถพัฒนาจิตให้สูงขึ้นได้ถึงระดับฌานสมาบัติ 8 และในกรณีที่ได้ บรรลุธรรมถึงขั้นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ด้วยแล้ว สามารถที่จะเข้านิโรธสมาบัติได้ซึ่งเป็นอานิสงส์ ข้อหนึ่งอันเกิดจากการฝึกจิตตามแนวทางแห่งกสิณในพระพุทธศาสนาเถรวาท และใช้ฌานนั้นเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไป เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา คือ นิพพานวิธีการพัฒนาจิตตามแนวกสิณในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น ก็คือ เป็นกระบวนการฝึกอบรมจิต เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ฝึกปฏิบัติทั้งในด้านกาย วาจา และใจ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งจิตเป็นการวางรากฐานทางจิตให้มีศักยภาพ พร้อมเหมาะที่จะนำไปใช้ทำงานทางปัญญา กล่าวคือ เป็นการเจริญวิปัสสนาภาวนาโดยมีสมถะเป็นบาท หรือ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สมถยานิกะ” ซึ่งเป็นแบบวิธีในทางพระพุทธศาสนาเถรวาท สำหรับใช้เป็นแนวทางในการฝึกปฏิบัติพัฒนาจิตเพื่อให้เข้าถึงซึ่งมรรค ผล นิพพาน รูปแบบหนึ่ง นั้นเอง
Downloads
How to Cite
Issue
Section
License
Each article is copyrighted © by its author(s) and is published under license from the author(s).