สารเคมีที่รบกวนระบบต่อมไร้ท่อและผลต่อสัตว์เลื้อยคลาน

Main Article Content

ศรัณย์ เกียรติมาลีสถิต

บทคัดย่อ

สารเคมีที่รบกวนระบบต่อมไร้ท่อ เป็นกลุ่มของสารเคมีสังเคราะห์ที่สามารถเลียนแบบ รบกวน หรือยับยั้งการทํางานของฮอร์โมนตามธรรมชาติในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ทําให้สมดุลฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต การสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์และสัตว์ป่า สารเคมีสังเคราะห์ซึ่งถูกจัดเป็นสารเคมีที่รบกวนระบบต่อมไร้ท่อ หลายชนิดถูกใช้อย่างแพร่หลายทางการเกษตรและสาธารณสุขตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น อัลดริน ดีดีที เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันถูกยกเลิกและห้ามใช้แล้วตามกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก แต่ยังพบการตกค้างของสารเคมีเหล่านี้ในระบบนิเวศ สัตว์เลื้อยคลานเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มหนึ่งที่มีรายงานการได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่รบกวนระบบต่อมไร้ท่อที่ตกค้างในระบบนิเวศผ่านทางห่วงโซ่อาหาร ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสัตว์เลื้อยคลานได้แก่ การผันแปรของเพศ การเปลี่ยนสมดุลระดับฮอร์โมน และการเกิดความผิดปกติทางสรีรวิทยา หลายการศึกษาที่ทะเลสาบอะพ็อพก้า ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าสารเคมีที่รบกวนระบบต่อมไร้ท่อส่งผลต่อการผันแปรของเพศและการลดลงประชากรของจระเข้สายพันธุ์อเมริกันอัลลิเกเตอร์ ในสายใยอาหารที่สลับชับซ้อน เมื่อสัตว์เลื้อยคลานซึ่งอยู่ในระดับขั้นการบริโภคเดียวกับมนุษย์หรือต่ำกว่าหนึ่งระดับขั้นการบริโภค อาจจะได้รับผลกระทบจากสารเคมีที่รบกวนระบบต่อมไร้ท่อ และมีความเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคระดับสูงในสายใยอาหารจะมีโอกาสเสี่ยงทีจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับสัตว์เลื่อยคลาน

Article Details

How to Cite
เกียรติมาลีสถิต ศ. (2012). สารเคมีที่รบกวนระบบต่อมไร้ท่อและผลต่อสัตว์เลื้อยคลาน. วารสารวิทยาศาสตร์ มข., 40(2), 346–355. สืบค้น จาก https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/KKUSciJ/article/view/253098
บท
บทความวิชาการ