ภูมิปัญญาด้านศิลปกรรมของชุมชนไทยเชื้อสายมอญเพื่อออกแบบสื่อการเรียนรู้
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาภูมิปัญญามอญทางด้านศิลปกรรมของชุมชนไทยเชื้อสายมอญ 2) เพื่อวิเคราะห์เอกลักษณ์ทางด้านศิลปกรรมมอญ นำไปสู่แนวทางการออกแบบสื่อการเรียนรู้ 3 ) เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจในภูมิปัญญาด้านศิลปกรรมมอญของกลุ่มตัวอย่าง ผลจากการวิจัยพบว่า ปัจจัยหลักของการสร้างผลงานศิลปกรรมมอญนั้นเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา และเพื่อรำลึกถึงอดีตของชนชาติมอญ โดยศิลปกรรมมอญ จำแนกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ศิลปวัฒนธรรมที่จับต้องได้ ได้แก่ สถาปัตยกรรมถาวร เช่น เจดีย์มอญวัดทรงธรรมวรวิหาร เจดีย์มอญวัดปรมัยยิกาวาส ภาพจิตรกรรมในพระอุโบสถ วัดไทรอารีรักษ์ วัดคงคาราม จังหวัดราชบุรี เสาหงส์วัดกลางวรวิหาร สถาปัตยกรรมชั่วคราว ได้แก่ ปราสาทปลงศพพระสงฆ์มอญ งานหัตถกรรม และงานฝีมือ อาทิ การทำโลงศพมอญ ธงตะขาบ การปักสไบมอญ เป็นต้น ศิลปกรรมประเภทที่จับต้องไม่ได้ ได้แก่ ภาษามอญ ความเชื่อเรื่องผี ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต เช่น ประเพณีทำศพ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแห่ธงตะขาบ และองค์ความรู้และทักษะของช่างภูมิปัญญามอญ อาทิ เอกลักษณ์ของลวดลายมอญบนโลงศพมอญ การตอกลายกระดาษ การสอดสีกระดาษ เทคนิคการปั้นเครื่องปั้นดินเผา การตกแต่งลวดลาย เทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลายและสีบนผ้าสไบมอญ คติธรรมและความหมายแฝงในธงตะขาบมอญ คำเรียกและภาษาเฉพาะทางด้านช่างมอญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การนำไปใช้เชิงพาณิชย์ อาทิ การผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมประเภทของที่ระลึก การสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมมอญ เป็นต้น
ผู้วิจัยจึงได้นำผลการศึกษาดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการออกแบบสื่อการเรียนรู้ คือ “ชุดปักสไบมอญ และชุดสาธิตธงตะขาบ” ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบ แสดงอัตลักษณ์มอญ มีความสวยงาม สืบสานภูมิปัญญามอญ และสื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ง่าย
ผลการประเมินรูปแบบสื่อการเรียนรู้ โดยผู้เชียวชาญจำนวน 3 คน ในด้านการออกแบบสื่อ และด้านศิลปวัฒนธรรม ได้ประเมินสื่อการเรียนรู้ในระดับดีถึงดีมาก คะแนนเฉลี่ยมากที่สุดที่ 5.00 ในด้านที่สื่อทำให้เกิดความภูมิใจต่อชุมชน โดยนำความรู้ไปถ่ายทอดและต่อยอดภูมิปัญญามอญ
สำหรับผลการประเมินความรู้ความเข้าใจด้านศิลปกรรมมอญของกลุ่มตัวอย่างนั้นให้ความสำคัญที่สุดคือ สื่อการเรียนรู้นี้ได้แสดงเอกลักษณ์มอญ และมีความสวยงามมีคุณค่าน่าจดจำ รวมถึงเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีมอญ รวมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญามอญ เพื่อเผยแพร่ให้เกิดคุณค่า และเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยง่าย
Article Details
"ข้อคิดเห็น เนื้อหา รวมทั้งการใช้ภาษาในบทความถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน"
References
[2] ประพันธ์พงษ์ เทวคุปต์. 2551. ประวัติศาสตร์และถิ่นฐานบ้านเรือนมอญปากลัด.หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ สุเอ็ด คชเสนีย์. กรุงเทพฯ : เท็ค โปรโมชั่นแอนด์ แอ็ดเวอร์ไทซซิ่ง.
[3] เกศสิรินทร์ แพทอง. 2546. การปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์และวิธีการดำรงอัตลักษณ์สำคัญของชาวมอญอำเภอพระประแดง. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) คณะพัฒนาสังคม. สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์.
[4] สายันต์ ไพรชาญจิตร์. 2550. การจัดการทรัพยากรทางโบราณคดีในงานพัฒนาชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ศักดิ์โสภาการพิมพ์.
[5] สำนักงาน ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ.2557. กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process). ค้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557, จาก https://203. 157. 19.120/km_ict/wp-content/ uploads/ 2010/04/kmprocess.gif
[6] ศูนย์พัฒนาหนังสือกรมวิชาการ. 2554.ความรู้เกี่ยวกับสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษา.. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
[7] บุญชม ศรีสะอาด. 2535. การวิจัยเบื้องต้น.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สุวิริยาสาสน์.
[8] ชาญชัย รอดเลิศ. 2553. การศึกษาและออกแบบสื่อการเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมปลาตะเพียนสาน. วารสารครุศาสตร์อุตสาหกรรม, 10(3),น.54-63.
Rawdlert, C. 2010. Study and Design of Instructional of Pla Tapien : Palmleaf Woven Art and Craft. Journal of Industrial Education, 10(3), p 54-63.