จริยธรรมในการตีพิมพ์ (Publication Ethics)

วารสารงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และการใช้ประโยชน์นวัตกรรมเทคโนโลยี (RMUTI Journal)

1. บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Author Ethical Responsibilities)

     1.1 ผู้เขียนบทความจะต้องรับรองผลงานของตนว่าเป็นผลงานใหม่ ไม่มีการคัดลอก ทำซ้ำ  (Plagiarism) ไม่ว่ากรณีใด ๆ รวมทั้งไม่ใช่ผลงานที่มีการเผยแพร่หรือนำเสนอในงานประชุมวิชาการฉบับเต็มมาก่อน และไม่ส่งต้นฉบับบทความซ้ำซ้อนกับวารสารอื่น

     1.2 ผู้เขียนบทความต้องจัดทำต้นฉบับเนื้อหาของบทความตามคำแนะนำสำหรับผู้เขียน และต้นฉบับบทความต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร

     1.3 ผู้เขียนบทความจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ไม่ควรนำเอกสารวิชาการที่ไม่ได้อ่านมาอ้างอิง หรือใส่ไว้ในเอกสารอ้างอิง และควรอ้างอิงเอกสารเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสมไม่มากจนเกินไป รวมทั้งไม่นำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของตนโดยไม่อ้างอิง และหากมีการนำผลงานผู้อื่นมาใช้ในบทความของตนเอง เช่น ภาพ หรือตาราง ให้ระบุแหล่งที่มา เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (หากมีการฟ้องร้องจะเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ทางวารสารจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น)

     1.4 ผู้เขียนบทความที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการบทความจริง โดยไม่เพิ่มเติมรายชื่อผู้เขียนบทความคนอื่นหลังจากได้รับการตอบรับจากวารสาร

     1.5 ผู้เขียนบทความจะต้องดำเนินการแก้ไขบทความ ปรับปรุงบทความตามข้อเสนอแนะ/คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความและจากกองบรรณาธิการตามสมควร หากผู้เขียนบทความมีข้อโต้แย้ง หรือคำชี้แจงที่เป็นประโยชน์ สามารถชี้แจงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยเสนอผ่านทางกองบรรณาธิการ เพื่อแจ้งไปยังผู้ทรงคุณวุฒิสำหรับประกอบการพิจารณา

     1.6 ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการทำวิจัยนี้ และ/หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องระบุในบทความ และแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

     1.7 ผู้เขียนบทความจะต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการวิจัยโดยไม่มีการบิดเบือน หรือให้ข้อมูลเท็จ หรือการปลอมแปลง บิดเบือน รวมไปถึงการตกแต่ง หรือ เลือกแสดงข้อมูลเฉพาะที่สอดคล้องกับข้อสรุป

     1.8 กรณีที่ผลงานเป็นการศึกษาวิจัยและทำการทดลองในคนหรือสัตว์ทดลอง โดยการทดลองในคนอาจส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย และสุขภาวะของคน ขอให้แนบหนังสือรับรองจริยธรรมจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง ทั้งนี้ การอนุมัติให้ลงตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากกองบรรณาธิการวารสารฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด

2. บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Editor Roles and Responsibility)

     2.1 บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบคุณภาพของบทความทุกบทความที่ส่งมาเพื่อขอรับการพิจารณาตีพิมพ์ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร

     2.2 บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

     2.3 บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความทุกครั้งโดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้เขียนบทความในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมืองและสังกัดของผู้เขียนบทความ

     2.4 บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ และไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจหรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง

     2.5 บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจัง เมื่อบรรณาธิการตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น จะต้องระงับการประเมินและติดต่อผู้เขียน เพื่อพิจารณาตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์ หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้เขียนปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ

     2.6 บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เขียนบทความ

     2.7 บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยอยู่เสมอ

     2.8 กรณีมีปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้น และเกินกว่าอำนาจหน้าที่ของบรรณาธิการ จะนำเรื่องเข้าสู่กองบรรณาธิการเพื่อตัดสินใจ โดยอยู่บนพื้นฐานของความเห็นร่วมกันโดยฉันทามติ

3. บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Reviewer Roles and Responsibilities)

     3.1 ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ และต้องรักษาระยะเวลาการประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่กำหนด

     3.2 หากผู้ประเมินบทความมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนผู้ประเมินบทความจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ

     3.3 ผู้ประเมินบทความควรรับประเมินบทความเฉพาะสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญตามหลักการ และเหตุผลทางวิชาการ โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความถูกต้อง ความชัดเจน ความสอดคล้องของเนื้อหาและไม่ขัดต่อนโยบายของทางวารสาร

     3.4 หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนกัน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ

     3.5 ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน

     3.6 ผู้ประเมินบทความต้องแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับเนื้อหาของบทความที่ประเมิน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้อง ความซ้ำซ้อนของเนื้อหาของบทความที่ประเมินกับบทความอื่น ๆ และแจ้งผลการประเมินต่อกองบรรณาธิการวารสาร เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการตอบรับ/ปฏิเสธบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร พร้อมทั้งแนบหลักฐานประกอบ