มาตรฐานทางจริยธรรมของวารสาร มทร.อีสาน ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

     1. ควบคุมและตรวจสอบการดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดของทางวารสาร ฯ มทร.อีสาน โดยไม่ขัดต่อหลักสากลทั่วไป
     2. พิจารณาในเบื้องต้นเพื่อตอบรับ-ปฎิเสธบทความตามความเหมาะสม ถูกต้อง ครบถ้วน โดยคำนึงถึงคุณภาพของบทความ ความใหม่ ความชัดเจน และความสอดคล้องของเนื้อหากับนโยบายของวารสาร ฯ เป็นสำคัญ ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร ฯ
     3. พิจารณาตัดสินผลการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตอบรับ-ปฎิเสธการตีพิมพ์ พร้อมทั้งรับฟังคำชี้แจงหรือข้อโต้แย้งจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อประกอบการตัดสินใจ
     4. ตรวจสอบ และควบคุมคุณภาพและปริมาณของบทความที่ได้รับการตีพิมพ์ให้มีความเหมาะสม รวมถึงการตรวจสอบเพื่อคัดกรองบทความที่มีการคัดลอก (Plagiarism) และบทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่จากที่อื่นมาแล้ว ทั้งในรูปแบบวารสารหรือบทความหลังการนำเสนอในงานประชุมวิชาการฉบับเต็ม (Proceeding) ไม่ให้ถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาหรือตีพิมพ์ซ้ำในวารสาร 
     5. ชี้แจงหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบประเมินบทความ (Peer review) ต่อผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการปกปิดข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ประเมินบทความ ไม่ว่าบทความนั้นจะได้รับผลตอบรับ หรือปฎิเสธการตีพิมพ์ก็ตาม
     6. ตรวจสอบความถูกต้อง เหมาะสมของบทความในลำดับสุดท้าย ก่อนตีพิมพ์เผยแพร่
     7. ปรับปรุงวารสารให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ
     8. ให้การรับรองคุณภาพของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์
     9. สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ต้องคงไว้ซึ่งความถูกต้องตามหลักวิชาการ
     10. พิจารณาตัดสินใจในการแก้ไขข้อผิดพลาดจากการตีพิมพ์ การทำให้เกิดความกระจ่าง การถอดถอนบทความ การประสานไปยังผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ และการขออภัย หากเกิดข้อผิดพลาดหรือข้อโต้แย้งในบทความที่อยู่ในกระบวนการพิจารณา หรือถูกตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร ฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
     11. ชี้แจงนโยบายของวารสาร ฯ ให้ผู้อ่านทั่วไปได้ทราบ รวมถึงการให้คำแนะนำ และแนวทางในการดำเนินการเพื่อส่งบทความเข้ามายังวารสารเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่
     12. จัดสรรให้มีระบบรองรับที่ทำให้มั่นใจได้ว่าบทความที่ส่งเข้ามายังวารสาร จะได้รับการปกปิดเป็นความลับในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาประเมิน

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์

     1. ให้การรับรองผลงานของตนว่าเป็นผลงานใหม่ ที่ไม่มีการคัดลอก (Plagiarism) ไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือเคยถูกนำเสนอในวารสารอื่น และไม่ใช่ผลงานที่มีการเผยแพร่หรือนำเสนอในงานประชุมวิชาการฉบับเต็ม (Proceeding) ใด ๆ มาก่อน
     2. นำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการวิจัยโดยไม่มีการบิดเบือนหรือให้ข้อมูลเท็จที่ขัดต่อความถูกต้องตามหลักวิชาการ
     3. ดำเนินการเขียนบทความตามรูปแบบที่กำหนดของทางวารสาร ฯ อย่างเคร่งครัด และนำเสนอบทความที่สอดคล้องกับนโยบายของวารสาร
     4. อ้างอิงบทความที่เกี่ยวข้องในเนื้อหาบทความของตนตามความเหมาะสม และจัดทำรายการอ้างอิงที่ถูกต้องตามรูปแบบที่ทางวารสาร ฯ กำหนดในส่วนท้ายของบทความ
     5. ดำเนินการแก้ไข ปรับปรุงบทความตามข้อเสนอแนะ/คำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาบทความ และจากกองบรรณาธิการวารสาร ฯ ตามสมควร ทั้งนี้หากผู้นิพนธ์มีข้อโต้แย้ง หรือคำชี้แจงที่เป็นประโยชน์ สามารถชี้แจงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยเสนอผ่านทางกองบรรณาธิการวารสาร ฯ เพื่อแจ้งไปยังผู้เกี่ยวข้องสำหรับประกอบการพิจารณา
     6. ตรวจสอบ และแก้ไขบทความให้มีความถูกต้องเหมาะสม และเป็นไปตามรูปแบบที่ทางวารสารกำหนด เพื่อเสนอต่อบรรณาธิการวารสาร ฯ ก่อนการตีพิมพ์เผยแพร่
     7. ผู้นิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ฯ จะต้องมีสถานะเป็นสมาชิกของทางวารสาร ฯ ซึ่งอาจดำเนินการสมัครสมาชิกหลังจากได้รับผลการพิจารณาตอบรับให้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความของตนลงในวารสาร ฯ ได้
     8. ยินยอมให้บทความของตนที่ได้รับตีพิมพ์ลงในวารสาร ฯ เป็นลิขสิทธิ์ของทางวารสาร ฯ
     9. ในกรณีที่มีการขอยกเลิกการพิจารณาบทความโดยผู้นิพนธ์หลังจากที่ทางวารสารได้ดำเนินการตอบรับบทความเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเป็นต้นไป ผู้นิพนธ์ยินยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริง

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความ

     1. รักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
     2. ประเมินบทความด้วยความเชี่ยวชาญตามหลักการ และเหตุผลทางวิชาการที่ถูกต้อง โดยพิจารณาจากความสำคัญ ความใหม่ ความถูกต้อง ความชัดเจน ความสอดคล้องของเนื้อหา ที่ไม่ขัดต่อนโยบายของทางวารสาร ฯ และไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลตามหลักวิชาการรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
     3. ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ที่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้นิพนธ์ หรือผู้ที่มีเหตุผลอื่น ๆ ที่อาจส่งกระทบต่อการพิจารณาบทความได้อย่างอิสระ หากกรณีดังกล่าวใดเกิดขึ้น ให้ผู้ประเมินแจ้งต่อบรรณาธิการวารสาร ฯ และขอปฎิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ โดยทันที
     4. สามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับเนื้อหาของบทความที่ประเมิน เพื่อให้เกิดการปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้อง ความซ้ำซ้อนของเนื้อหาของบทความที่ประเมินกับบทความอื่น ๆ และแจ้งผลการประเมินต่อกองบรรณาธิการวารสาร ฯ เพื่อพิจารณาตัดสินใจในการตอบรับ/ปฎิเสธบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร ฯ พร้อมทั้งแนบหลักฐานประกอบ(ถ้ามี)

ข้อมูลเพิ่มเติม

แหล่งรวมบทความของวารสาร มทร.อีสาน ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

     บทความทั้งหมด

Website : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน             www.rmuti.ac.th

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน https://ird.rmuti.ac.th/2015/