การประเมินคุณภาพปุ๋ยหมักจากขยะชุมชนเทศบาลนครพิษณุโลก
Main Article Content
Abstract
การจัดการขยะชุมชนเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน จากการที่จังหวัดพิษณุโลกมีการขยายตัวของประชากรอย่างต่อเนื่องจึงก่อให้เกิดขยะจำนวนมาก องค์ประกอบที่สำคัญของขยะได้แก่ เศษอาหาร ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ดังนั้นเทศบาลนครพิษณุโลกจึงได้รณรงค์ให้นำไปทำปุ๋ยหมักโดยมีชุมชนสมัครใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 11 แห่ง การจะนำปุ๋ยหมักไปใช้อย่างได้ผลและปลอดภัยต่อผู้บริโภคจำเป็นจะต้องให้ปุ๋ยที่หมักได้มีค่าผ่านมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ พ.ศ. 2548 ดังนั้นการศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพของปุ๋ยหมักจากขยะชุมชนกับมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ ดำเนินการทดลองโดยเก็บปุ๋ยหมักจากขยะชุมชนทั้ง 11 แห่ง ที่ผลิตจากขยะในช่วงฤดูฝนที่ผลผลิตออกมาในเดือนพฤศจิกายน 2544 และฤดูหนาว ที่มีผลผลิตในเดือนมีนาคม 2545 ทำการวิเคราะห์หา ความชื้น พีเอช อินทรียวัตถุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม อาร์ซินิก แคดเมียมและตะกั่ว ผลการศึกษาพบว่ามีชุมชนที่หมักขยะแล้วได้ปุ๋ยจำนวน 9 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพของปุ๋ยหมักทั้งสองครั้งกับมาตรฐานปุ๋ยพบว่าไม่มีปุ๋ยจากชุมชนใดผ่านเกณฑ์มาตรฐานปุ๋ยทั้ง 10 คุณลักษณะ โดยปุ๋ยที่มีคุณภาพดีที่สุดคือสามารถผ่านเกณฑ์จำนวน 9 คุณลักษณะ ได้แก่ปุ๋ยจากชุมชนคลองมหาดไทยในการผลิตช่วงฤดูฝนและปุ๋ยจากชุมชนสระสองพี่น้องในการผลิตช่วงฤดูหนาว อาร์ซินิกเป็นคุณลักษณะเดียวที่ไม่มีปุ๋ยจากชุมชนใดผ่านมาตรฐานทั้งสองครั้ง ในขณะที่ อัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน โพแทสเซียม แคดเมียมและตะกั่ว เป็นคุณลักษณะที่ปุ๋ยทุกชุมชนมีค่าผ่านมาตรฐาน
Evaluation of Compost Quality from Phitsanulok Municipal Solid Waste
Municipal waste is nowadays a serious problem. The continual population expansion in Phitsanulok province has created a great deal of waste. The significant composite of waste is food waste, which is biodegradable organic matter. Thus, Phitsanulok municipality sets a campaign on waste composting for 11 sites. In order to use the compost effectively and safely, it has to meet the organic fertilizer standard (B.E.2548). The purpose of this study was to compare the compost quality with the standard. The composts from 11 sites, which were processed from waste collected in rainy and winter seasons, were sampled and analyzed for moisture, pH, organic matter, nitrogen, phosphorus, potassium, arsenic, cadmium and lead. The results indicated that the composts from 9 sites were conversed to be fertilizers. However, none of them met all standards. The best 9 composts were from Klong Mahadthai and Sra Songpeenong sites, generated in rainy and winter seasons. Arsenic was the only one parameter that none of compost met the standard in both seasons. However, all composts met C/N ratio, potassium, cadmium and lead standard.