ผลการใช้กากมัสตาร์ดและกากมะพร้าวคั้นกะทิสดทดแทนกากถั่วเหลืองในอาหารสุกรขุน

ผู้แต่ง

  • ภาดา ศรีแพนบาล แผนกวิชาสัตวศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่

คำสำคัญ:

สุกรขุน, กากถั่วเหลือง, กากมัสตาร์ด, กากมะพร้าวคั้นกะทิสด

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้กากมัสตาร์ดและกากมะพร้าวคั้นกะทิสดทดแทนกากถั่วเหลืองในอาหารสุกรขุน โดยใช้สุกรลูกผสม 3 สายเลือด พันธุ์ลาร์จไวท์ x แลนด์เรซ x ดูร็อค (Large White x Landrace x Duroc) คละเพศ   จากครอกเดียวกัน มีน้ำหนักเริ่มต้นเฉลี่ย 53 กิโลกรัม จำนวน 12 ตัว ใช้แผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design: CRD) แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 2 ซ้ำ ๆ ละ 2 ตัว สุ่มให้สุกรแต่ละกลุ่มได้รับอาหารสูตรใดสูตรหนึ่งดังนี้ กลุ่มที่ 1 อาหารพื้นฐานซึ่งไม่ใช้กากมัสตาร์ดและกากมะพร้าวคั้นกะทิสด กลุ่มที่ 2 อาหารที่ทดแทนกากถั่วเหลืองด้วยกากมัสตาร์ดร้อยละ 15 ของสูตรอาหาร และกลุ่มที่ 3 อาหารที่ทดแทนกากถั่วเหลืองด้วยกากมะพร้าวคั้นกะทิสดร้อยละ 15 ของสูตรอาหาร เมื่อสิ้นสุดการทดลอง 10 สัปดาห์ โดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 100 กิโลกรัม

ปรากฏว่าสมรรถภาพการผลิต (อัตราการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการใช้อาหาร) ในกลุ่มที่ 2 ดีที่สุด รองลงมาคือกลุ่มที่ 1 ส่วนกลุ่มที่ 3 มีสมรรถภาพการผลิตต่ำสุด ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) กับกลุ่มที่ 3 จากข้อมูลนี้บ่งชี้ว่า สามารถทดแทนกากถั่วเหลืองด้วยกากมัสตาร์ดได้ในระดับร้อยละ 15 ของสูตรอาหารสุกรขุน ซึ่งทำให้สมรรถภาพการผลิตดีที่สุดและต้นทุนอาหารที่ต่ำที่สุดส่วนการใช้กากมะพร้าวคั้นกะทิสดร้อยละ 15 ในสูตรอาหารมีแนวโน้มทำให้สมรรถภาพการผลิตของสุกรเลวลง ทั้งนี้เนื่องจากความฟ่ามของอาหารทำให้การกินอาหารของสุกรลดลง

References

[1] พิเชษฐ์ แสงจันทร์, สุชน ตั้งทวีวิวัฒน์ และ บุญล้อม ชีวอิสระกุล. (2544). การใช้กากมัสตาร์ดแทนที่กากถั่วเหลืองในอาหารสุกรรุ่นและขุน.รายงานประชุมวิชาการครั้งที่ 3. มหาวิทยาลัยแม่โจ้. เชียงใหม่.
[2] สาโรช ค้าเจริญ และเยาวมาลย์ ค้าเจริญ. (2557). การทดแทนกากถั่วเหลืองด้วยกากมะพร้าวคั้นกะทิสดในอาหารสุกร. แก่นเกษตร 42. ฉบับพิเศษ 1.
[3] ศักดา กลิ่นสุคนธ์ และ นฤมล แก้วสุทธิพล. (2559). ผลการทดแทนกากถั่วเหลืองด้วยกากมัสตาร์ดในอาหารข้นร่วมกับการกรอกสารละลายไอโอดีน ต่อสมรรถภาพการผลิตและฮอร์โมนจากต่อมไธรอยด์ในพลาสมาของแพะเนื้อรุ่น. วารสารวิจัย. ปีที่ 9 ฉบับที่ 2.
[4] บุญล้อม ชีวอสระกุล, วีระศักดิ์ สามารถ และ สุชน ตั้งทวีวิวัฒน์. (2554). คุณภาพโปรตีนและค่าพลังงานใช้ประโยชน์ของกากทานตะวันและกากเรปซีด. วารสารเกษตร. ปีที่ 3 ฉบับที่ 17. 247-258.
[5] ประวิทย์ รอดจันทร์. (2557). ผลของระดับการใช้กากกะทิตากแห้งเสริมด้วยเอนไซม์รวมต่อการใช้ประโยชน์ได้ของอาหารในสุกร. รายงานการวิจัย.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย งบประมาณแผ่นดินประจำปี พ.ศ. 2557.
[6] นฤมล สมคุณา, จรัส สว่างทัพ, จิรประภา รอดจากเข็ญ และ สุรศักดิ์ อุตรวิเชียร. (2557). การศึกษาการเพิ่มระดับโปรตีนของกากมะพร้าวสดและแห้ง โดยกระบวนการหมักยีสต์และยูเรีย. ฉบับพิเศษ 1 แก่นเกษตร 42.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

25-06-2020