การเปลี่ยนแปลงของประชาคมแพลงก์ตอนและสภาวะแวดล้อมทางนํ้า บริเวณแพเลี้ยงหอยแมลงภู่ชายฝั่งอ่าวศรีราชาในอ่าวไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาประชาคมแพลงก์ตอนดำเนินการโดยการเก็บตัวอย่างทุกสองสัปดาห์ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2549 – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 บริเวณแพเลี้ยงหอยแมลงภู่ในอ่าวศรีราชาฝั่งอ่าวไทย วิธีการเก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนพืชโดยการกรองนํ้าทะเลผ่านถุงกรองที่มีขนาดของช่องตา 20 ไมโครเมตร และการเก็บตัวอย่างแพลงก์ตอนสัตว์โดยวิธีการลากถุงเก็บแพลงก์ตอนขนาดช่องตา 330 ไมโครเมตรในแนวดิ่ง ทำการตรวจวัดค่าทางสิ่งแวดล้อม ณ จุดเก็บตัวอย่าง และการวิเคราะห์สารอาหารทำในห้องปฏิบัติการ พบแพลงก์ตอนพืชทั้งสิ้น 57 สกุล และแพลงก์ตอนสัตว์ 34 กลุ่ม ค่าเฉลี่ยของแพลงก์ตอนพืชอยู่ที่ 38,777 ± 27,453 ยูนิตต่อลิตร และค่าเฉลี่ยของแพลงก์ตอนสัตว์ที่ 3,368 ± 1,183 ตัวต่อเมตร3 กลุ่มเด่นของแพลงก์ตอนพืชคือไดอะตอม และแพลงก์ตอนสัตว์ ได้แก่ copepods, cirripede nauplii, Lucifer sp., and Sagitta spp. พบการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบของแพลงก์ตอนพืชอย่างเด่นชัดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 โดยพบการเพิ่มจำนวนของไดโนแฟลกเจลเลตชนิด Ceratium furca (Ehrenberg) Claparède & Lachmann แทนที่ประชาคมแพลงก์ตอนพืชเดิม การเปลี่ยนแปลงของประชาคมแพลงก์ตอนที่เด่นชัด คือการเปลี่ยนแปลงของปริมาณแพลงก์ตอนตามระยะเวลาระหว่างเดือนต่อเดือนในรอบปี ซึ่งพบว่ามีปริมาณสูงในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ค่าผลผลิตเบื้องต้นเฉลี่ย (3.85 ± 2.79 mg m-3) ในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้สูงกว่าค่าเฉลี่ย (1.11 ± 0.36 mg m-3) ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้องค์ประกอบของประชาคมแพลงก์ตอนได้รับอิทธิพลจากอุณหภูมิของนํ้าทะเล ความเค็ม ปริมาณเอมโมเนีย และปริมาณออกซิเจนที่ละลายในนํ้าทะเล สภาวะของตัวแปรทางสิ่งแวดล้อมและสารอาหารมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา แต่ทั้งนี้ค่าสูงสุดของปริมาณสารอาหาร และค่าปริมาณออกซิเจนที่ละลายในนํ้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับมาตรฐานนํ้าทะเลเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.