การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวที่มีการทำเหมืองแร่สังกะสี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกล

Main Article Content

ศุภกานต์ ธิเตจ๊ะ
สุนทร คำยอง
อัมรินทร์ บุญตัน
พันธุ์ลพ หัตถโกศล
อริศรา เจริญปัญญาเนตร

บทคัดย่อ

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวตอนบนฝั่งขวา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีแหล่งแร่สังกะสีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ในพื้นที่ส่วนใหญ่เคยปกคลุมด้วยป่าธรรมชาติและมีการเกษตรเพื่อยังชีพบางส่วน ต่อมามีการทำสัมปทานเหมืองแร่สังกะสี (ช่วงปีพ.ศ. 2517-2559) และการแผ้วถางป่าเพื่อยึดครองพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกพืชเกษตร จึงทำให้สัดส่วนของรูปแบบการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำเปลี่ยนแปลงไป การเกษตรในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ไม้ผล พืชผัก ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น การศึกษาแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ตามระยะเวลาของการทำเหมืองแร่ คือ (1) ก่อนการทำเหมืองแร่ (ระยะที่ 1) (2) ระหว่างการทำเหมืองแร่ช่วงก่อนปลูกป่าฟื้นฟู (ระยะที่ 2) (3) ระหว่างการทำเหมืองแร่ช่วงหลังปลูกป่าฟื้นฟู (ระยะที่ 3) และ (4) ภายหลังการปิดเหมือง (ระยะที่ 4) โดยได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสำรวจจากระยะไกลร่วมกับการสำรวจภาคสนามในการจำแนกประเภทการใช้ที่ดิน พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำส่วนล่าง (MT-2) มีสัดส่วนร้อยละของพื้นที่ป่าธรรมชาติใน 4 ระยะเท่ากับ 73.3 63.6 41.4 และ 35.9 ตามลำดับ พื้นที่เกษตรกรรม เท่ากับ 25.7  29.8  15.9 และ 17.2 พื้นที่เหมืองแร่ เท่ากับ 1.0  6.6  14.3 และ 1.3 และพื้นที่ป่าปลูก เท่ากับ 0 0 18.3 และ 45.6 การเกษตรเปลี่ยนจากแบบยังชีพเป็นเพื่อการค้า พื้นที่ป่าธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อการเพาะปลูก มีการปลูกป่าฟื้นฟูพื้นที่เหมืองแร่ ปลูกทดแทนในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ยึดคืนจากชาวบ้าน จึงทำให้พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น แม้ว่าพื้นที่ป่าธรรมชาติลดลง แต่การปลูกป่าทำให้สัดส่วนของพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 73.3 (ระยะที่ 1) เป็น 81.5 (ระยะที่ 4) ชุมชนมจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่าไม้โดยการสร้างป่าชุมชน 9 แห่ง การฟื้นฟูลุ่มน้ำแม่ตาวมีความสำคัญต่อการพัฒนาอำเภอแม่สอดให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อการค้ากับประเทศพม่าเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งควรจะดำเนินการจัดการลุ่มน้ำแบบบูรณาการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

Article Details

How to Cite
ธิเตจ๊ะ ศ. ., คำยอง ส. ., บุญตัน อ. ., หัตถโกศล พ. ., & เจริญปัญญาเนตร อ. . (2022). การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวที่มีการทำเหมืองแร่สังกะสี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกล. วารสารวิทยาศาสตร์ มข., 48(2), 286–295. สืบค้น จาก https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/KKUSciJ/article/view/250150
บท
บทความวิจัย