ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูงในแปลงปลูก 5 แห่งของประเทศไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความหลากหลายทางพันธุกรรมของพะยูงในแปลงปลูกที่มีการจัดการดูแลอย่างดี 5 แห่ง ได้แก่ สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียว สวนป่าคลองตะเกรา สวนป่าท่ากุ่มโนโบรุอุเมดะ สถานีวนวัฒนวิจัยดงลานและสถานีวนวัฒนวิจัยหมูสีโดยทำการเก็บตัวอย่างใบแห่งละ 30 ต้น มาศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมโดยใช้เครื่องหมาย Inter Simple Sequence Repeat (ISSR) ผลการศึกษาพบว่า ตัวอย่างพะยูงที่เก็บมาทั้งหมด 150 ต้นตัวอย่าง โดยใช้ไพรเมอร์ที่เหมาะสมจำนวน 10 ไพรเมอร์ให้จำนวนแถบดีเอ็นเอที่ใช้ในการตรวจสอบ 76 แถบ โดยในระดับชนิดพบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมที่ประเมินจากค่า percentage of polymorphic loci (% P), heterozygosity (He) และ Shannon’s information index (I) มีค่าสูง (P = 81.58 % He = 0.2904 I = 0.4336) ซึ่งพะยูงจากแปลงปลูกสถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์วังน้ำเขียวมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ สถานีวนวัฒนวิจัยดงลาน สวนป่าคลองตะเกรา สถานีวนวัฒนวิจัยหมูสีและสวนป่าท่ากุ่มโนโบรุอุเมดะ ตามลำดับ และจากการจัดกลุ่มความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมโดยวิธี Unweighted pair group method of arithmetic average (UPGMA) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม โดยสวนป่าท่ากุ่มโนโบรุอุเมดะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่ถูกแยกออกมาจากอีก 4 แห่งอย่างชัดเจน ผลจากการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การปลูกพะยูงในลักษณะแปลงปลูกหรือสวนป่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ดีที่จะสามารถรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมไว้ได้ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการเก็บรวบรวมพันธุกรรมของพะยูง ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดหรือกิ่งพันธุ์จากแหล่งต่าง ๆ มาปลูกรวมกัน (ex situ gene conservation) เพื่อช่วยรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของไม้ชนิดนี้ไว้
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.