การตรวจวัดข้อมูลเชิงคลื่นและสรีรวิทยาของมันสำปะหลังภายใต้สภาวะเครียดน้ำ
Main Article Content
บทคัดย่อ
สภาวะเครียดน้ำเป็นปัจจัยที่ผลกับมันสําปะหลังในระยะพัฒนารากและการสร้างหัวใต้ดิน ซึ่งส่งผลโดยตรงกับผลผลิตของมันสําปะหลัง การนําเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาความเครียดน้ำของพืชนั้นสามารถดําเนินการได้อย่างรวดเร็วและไม่ทําลายพืช งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ช่วงคลื่นและดัชนีพืชพรรณในการตรวจวัดมันสําปะหลังในสภาวะเครียดน้ำระดับแปลงทดลอง ดําเนินการเก็บข้อมูลในแปลงปลูกทดสอบมันสําปะหลัง พันธุ์ระยอง 9 ภายใต้สภาพที่ไม่ขาดน้ำและสภาพอาศัยน้ำฝน ที่มีการปลูกช่วงปลายฤดูฝนเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2558 ในแปลงทดลองจังหวัดขอนแก่น เก็บข้อมูลค่าการสะท้อนแสงเชิงสเปคตรัมและข้อมูลสรีรวิทยาของมันสําปะหลังที่อายุ 3 ถึง 5 เดือน เป็น 2 ชุดข้อมูลสําหรับการสร้างสมการทํานายและตรวจสอบความถูกต้องของสมการ จากนั้น วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ศึกษาด้วยการวิเคราะห์การถดถอยและตรวจสอบความถูกต้อง ผลการศึกษา พบว่า ช่วงคลื่น 680 nm และดัชนี SAVI มีความสัมพันธ์กับอัตราการสังเคราะห์แสงและการชักนําการเปิดปากใบ โดยมีสัมประสิทธิ์การตัดสินใจมากกว่า 0.70 การตรวจสอบความถูกต้องของสมการการทํานาย พบว่า มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลค่อนข้างน้อย และมีค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจมากกว่า 0.80 ดังนั้น ช่วงคลื่น 680 nm และดัชนี SAVI จึงสามารถใช้ในการตรวจวัดมันสําปะหลังในสภาวะเครียดน้ำได้โดยพิจารณาจากข้อมูลอัตราการสังเคราะห์แสงและการชักนําการเปิดปากใบของมันสําปะหลังได้ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นของการตรวจวัดความเครียดที่เกิดจากการขาดน้ำของมันสําปะหลังด้วยข้อมูลช่วงคลื่นและดัชนีพืชพรรณ ข้อมูลที่ได้สามารถใช้ในการต่อยอดการศึกษาไปยังเซนเซอร์ต่างๆ ในระดับอากาศยานไร้คนขับและอวกาศเพื่อเป็นประโยชน์สําหรับการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.