การปนเปื้อนของเชื้อราในถั่วลิสงและการควบคุมโดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากเครื่องเทศ
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในการศึกษาการปนเปื้อนเชื้อราและยีสต์ในถั่วลิสงและผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสงชนิดละ 10 ตัวอย่าง โดยถั่วลิสงดิบและถั่วลิสงทอดทั้งเมล็ดวิเคราะห์โดวิธี direct plating ถั่วลิสงคั่วบดและถั่วลิสงตัดวิเคราะห์โดยวิธี dilution plating ผลปรากฏว่าถั่วลิสงดิบมีการปนเปื้อนของเชื้อราสูง (ร้อยละ 86.2) ซึ่งมากกว่าการปนเปื้อนของเชื้อราในถั่วลิสงทอด (ร้อยละ 76.2) ส่วนถั่วลิสงคั่วบดและถั่วลิสงตัดพบเชื้อราและยีสต์ค่อนข้างน้อย (น้อยกว่า 10 ถึง 7.0 x 103 CFU ต่อกรัม) เชื้อราที่พบมากที่สุดในถั่วลิสงทั้ง 4 ชนิดคือ Aspergillus spp. รองลงมาเป็น Rhizopus spp. และ Penicillium spp. และได้หาค่าความเข้มข้นต่ำสุด (minimum inhibitory concentration, MIC) ของน้ำมันกระวาน น้ํำมันกานพลูและน้ำมันเทียนตาตั๊กแตนในการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Aspergillus flavus TISTR 3041, A. ochraceus TISTR 3557, A. parasiticus TISTR 3276, A. terreus TISTR 3109, A. versicolor TISTR 3460, Alternaria alternata TISTR 3282, Penicillium citrinum TISTR 3437 และ A. flavus PN-09 ที่แยกได้จากถั่วลิสงดิบ เชื้อราส่วนใหญ่ที่ทดสอบมีความไวต่อการถูกยับยั้งโดยน้ำมันกานพลูมากที่สุด (ค่า MIC เท่ากับ 1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) ยกเว้น A. versicolor น้ำมันเทียนตาตั๊กแตนมีประสิทธิภาพรองลงมาคือ ยับยั้งการเจริญของเชื้อราเกือบทุกชนิดได้ที่ค่า MIC เท่ากับ 4 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ยกเว้นเชื้อรา A. ochraceus และ A. versicolor ที่ค่อนข้างต้านทาน ส่วนน้ำมันกระวานมีประสิทธิภาพในการ
ต้านเชื้อราทุกชนิดที่ทดสอบน้อยกว่า (ค่า MIC เท่ากับ 16 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) จากนั้นจึงได้นําน้ำมันกานพลูและน้ำมันเทียนตาตั๊กแตนมาทดลองเคลือบที่ฝาด้านในของจานเพาะเชื้อที่ใช้บรรจุถั่วลิสงเพื่อควบคุมการเจริญและการสร้างสาร อะฟลาทอกซินของ A. flavus TISTR 3041 และ A. flavus PN-09 ในถั่วลิสงดิบที่ปนเปื้อนเชื้อรานี้ร้อยละ 100 โดยได้ตรวจดูปริมาณการเจริญและการสร้างอะฟลาทอกซินในเมล็ดถั่วลิสงหลังจากเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 75 ครบ 7 วัน พบว่าการใช้น้ำมันกานพลูและน้ำมันเทียนตาตั๊กแตนที่ความเข้มข้น 4 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรมีผลทําให้การเจริญของเส้นใยเชื้อราที่ผิวของถั่วลิสงลดลงและมีแนวโน้มช่วยลดปริมาณสารพิษอะฟลาทอกซินที่สร้างโดย A. flavus ทั้งสองสายพันธุ์
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.