ความหลากชนิดและการสะสมคาร์บอนเหนือพื้นดินของไม้ต้นในหย่อมป่า ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินและเปรียบเทียบความหลากชนิดและปริมาณการสะสมคาร์บอนเหนือพื้นดินของไม้ต้นระหว่างหย่อมป่าในมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการจัดการที่ดินในพื้นที่วิทยาเขต โดยในปัจจุบันมีหย่อมป่าขนาดใหญ่เหลือเพียง 3 แห่งในพื้นที่ ดังนั้นจึงเลือกหย่อมป่าทั้ง 3 แห่งเป็นพื้นที่ศึกษา การศึกษานี้ใช้การวางแปลงขนาด 25x15 ตารางเมตร จำนวน 3 แปลงต่อหย่อมป่า 1 แห่ง ทำการจำแนกต้นไม้ทุกต้นในแปลงที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ระดับความสูงเพียงอกมากกว่า 4.5 เซนติเมตร พร้อมทั้งบันทึกขนาดของเส้นผ่านศูนย์กลาง และจำนวนต้นไม้ในแต่ละชนิด จากผลการศึกษา แม้ว่ากราฟเส้นโค้ง rarefaction แสดงให้เห็นว่าความหลากชนิดของไม้ต้นในหย่อมป่าทั้ง 3 แห่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามจำนวนชนิดของไม้ต้นทั้งหมด ตัวประเมินจำนวนชนิดแบบ Jackknite 1 และดัชนีความหลากชนิดของ Shannon ได้แสดงแนวโน้มว่า ความหลากชนิดของไม้ต้นในหย่อมป่า A มีแนวโน้มสูงกว่าหย่อมป่า B และ C ยิ่งกว่านั้นผลจากการวิเคราะห์การจัดกลุ่มแสดงให้เห็นว่าองค์ประกอบของชนิดไม้ต้นในหย่อมป่า A ครอบคลุมเกือบทั้งหมดของชนิดไม้ต้นที่พบจากหย่อมป่าทั้ง 3 แห่ง อีกทั้งค่าเฉลี่ยมวลชีวภาพเหนือพื้นดินซึ่งได้จากสมการ allometric และการสะสมคาร์บอนเหนือพื้นดิน แสดงให้เห็นว่ามวลชีวภาพและการสะสมคาร์บอนของหย่อมป่า A (101.39 ตัน/เฮกแตร์; 47.65 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์) มีค่ามากกว่าของหย่อมป่า B (80.88 ตัน/เฮกแตร์; 38.01 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์) และ C (81.33 ตัน/เฮกแตร์; 38.22 ตันคาร์บอน/เฮกแตร์) ดังนั้นจากผลการศึกษาทั้งด้านความหลากชนิดและปริมาณการสะสมคาร์บอน หย่อมป่า A ควรได้รับความสำคัญในลำดับแรกสุดในการอนุรักษ์
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.