ผลของ 6-เบนซิลอะมิโนพิวรีนและสูตรอาหารที่มีต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมะเม่าดง (Antidesma bunius (L.) Spreng. var. bunius)

Main Article Content

พรทิพย์ เทิดบารมี

บทคัดย่อ

การเพาะเลี้ยงยอดมะเม่าดง (Antidesma bunius (L.) Spreng. var. bunius) ในสภาพปลอดเชื้อ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิธีการฟอกฆ่าเชื้อบริเวณผิว การชักนําให้เพิ่มจํานวนและความยาวยอดที่เพาะเลี้ยงบนสูตรอาหาร Murashige and Skoog (MS) และ Woody Plant Medium (WPM) ที่เติมสารควบคุมการเจริญเติบโต คือ 6-เบนซิลอะมิโนพิวรีน (6-BAP) ความเข้มข้น 0 1 3 และ 5 มิลลิกรัมต่อลิตร และศึกษาการชักนําให้ยอดเกิดรากในสูตรอาหาร WPM ที่มีความเข้มข้นของธาตุอาหาร 1 1/2 และ 1/4 เท่า พบว่าการนํายอดของมะเม่าดงฟอกฆ่าเชื้อโดยไม่ตัดยอดออกจากต้นด้วยการโน้มยอดอ่อนลงแช่เอธิลแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 1 นาที แล้วจึงตัดยอดมะเม่าดงแช่ในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 2.4 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 10 นาที และย้ายลงแช่สารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 1.2 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 10 นาที มีประสิทธิภาพสูงสุดในการฟอกฆ่าเชื้อ ทําให้ยอดมะเม่าดงมีการปนเปื้อนและไม่รอดชีวิตต่ำสุด (16.67 เปอร์เซ็นต์) และมีการปลอดเชื้อและรอดชีวิตสูงสุด (83.33 เปอร์เซ็นต์) ทําการเพาะเลี้ยงยอดมะเม่าดงเป็นเวลา 8 สัปดาห์บนสูตรอาหาร MS ที่เติม 6-BAP ความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร พบว่าสามารถชักนําให้เกิดจํานวนยอดเฉลี่ยสูงสุด 2.7 ยอดมีความยาวเฉลี่ย 2.85 เซนติเมตร ส่วนการเพาะเลี้ยงยอดมะเม่าดงบนสูตรอาหาร WPM ที่เติม 6-BAP ที่ระดับความเข้มข้น 1 และ 3 มิลลิกรัมต่อลิตร สามารถชักนําให้เกิดจํานวนยอดเฉลี่ยสูงสุด 2.9 ยอด (ความยาวยอดเฉลี่ย 2.76 เซนติเมตร) และ 2.3 ยอด (ความยาวยอดเฉลี่ย 2.52 เซนติเมตร) ตามลําดับ การนำยอดมะเม่าดงมาชักนําให้เกิดรากในสภาพปลอดเชื้อเป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าสูตรอาหาร WPM ที่ความเข้มข้นธาตุอาหาร 1 และ 1/4 เท่าสามารถชักนำให้เกิดรากสูงสุดเท่ากัน (10 เปอร์เซ็นต์)

Article Details

บท
บทความวิจัย