ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสมุนไพรไทยบางชนิด

Main Article Content

สนั่น ศุภธีรสกุล
ธวัชชัย นาใจคง
อาซีด หวันยาวา
กฤตพงษ์ เก้าเอี้ยน
จตุพร คงสุขนิรันดร์
มาลินี วงศ์นาวา
นิสิตา บํารุงวงศ์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสมุนไพรไทยบางชนิดที่แพทย์แผนไทยใช้รักษาโรคเลือด รวมทั้งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของสารประกอบฟีนอล สารประกอบฟลาโวนอยด์ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสารสกัดเอธานอลของสมุนไพร 9 ชนิด คือ แก่นขนุน ผลคัดเค้า แก่นจันทน์ขาว รากเจตมูลเพลิงแดง ต้นผักเป็ดแดง แก่นมะซาง ผลมะตูม แก่นลั่นทม และเปลือกสมุลแว้ง พบว่าสารสกัดจากเปลือกสมุลแว้งยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 0.06 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และมีปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวมสูงสุดเทียบเท่า catechin 270.05±15.84 มิลลิกรัม/กรัมของสารสกัด สารสกัดจากผลคัดเค้าเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กได้ดีที่สุดโดยมีค่า IC50 0.39 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สารสกัดจากแก่นขนุนมีปริมาณสารประกอบฟีนอลรวมสูงสุดเทียบเท่า gallic acid 457.00±49.06 มิลลิกรัม/กรัมของสารสกัด ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพรมีความสัมพันธ์กับปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม และปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวม แต่ความสามารถในการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนกับเหล็กของสารสกัดสมุนไพรไม่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดสมุนไพร ปริมาณสารประกอบฟีนอลรวม และปริมาณสารประกอบฟลาโวนอยด์รวม ผลการศึกษาครั้งนี้สนับสนุนการใช้สมุนไพรดังกล่าวในการรักษาโรคเลือดตามทฤษฎีแพทย์แผนไทย

Article Details

บท
บทความวิจัย