เปรียบเทียบการเจริญเติบโตและการสะสมตะกั่วของทานตะวัน และข้าวฟ่างในดินที่ปนเปื้อนตะกั่ว
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ได้ทำการทดลองในโรงเรือนเพื่อศึกษาปริมาณความเข้มข้นของตะกั่วที่สะสมในส่วนต่าง ๆ ของทานตะวันและข้าวฟ่างที่ปลูกในดินปนเปื้อนตะกั่วจากบ้านคลิตี้ จังหวัดกาญจนบุรี และเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการเคลื่อนย้ายตะกั่วจากดินเข้าสู่พืชที่ระยะเก็บเกี่ยว 35 70 และ 105 วัน โดยพิจารณาจากค่า BCF และ TF จากการทดลองพบว่า ทานตะวันและข้าวฟ่างมีปริมาณความเข้มข้นของตะกั่วสูงที่สุดที่ระยะ 105 วัน โดยทานตะวันมีปริมาณความเข้มข้นของตะกั่วสูงสุด 137.79 ± 20.14 มก./กก. และข้าวฟ่างมีปริมาณความเข้มข้นของตะกั่วได้สูงสุด 80.73 ± 12.52 มก./กก. โดยทั้งทานตะวันและข้าวฟ่างมีการสะสมตะกั่วในรากได้สูงสุด รองลงมาคือลำต้นและใบ ดอก เปลือก และเมล็ด ตามลำดับ จากการทดลองพบว่า ในเมล็ดของทั้งทานตะวันและข้าวฟ่างมีปริมาณความเข้มข้นของตะกั่วเกินค่ามาตรฐานเพื่อการบริโภคเป็นอาหารมนุษย์ แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานของอาหารสัตว์ เมื่อศึกษาการเจริญเติบโตของทั้งทานตะวันและข้าวฟ่างในดินที่มีการปนเปื้อน และดินที่ไม่มีการปนเปื้อนตะกั่ว พบว่าพืชทั้งสองชนิดมีการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกัน (P > 0.05) ในการเคลื่อนย้ายตะกั่วจากดินเข้าสู่พืชพบว่าทานตะวันที่ระยะ 105 วัน มีค่า BCF สูงที่สุด ขณะที่ข้าวฟ่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในการเคลื่อนย้ายตะกั่วจากรากขึ้นสู่ส่วนเหนือดิน (TF) ที่ระยะ 35 วัน
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.