การใช้ปุ๋ยคอกและเคมีต่อการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าว

Main Article Content

พันธวัศ สัมพันธ์พานิช

บทคัดย่อ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยในปัจจุบัน อยู่ในภาวะที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาก๊าซเรือนกระจกจากการทำนา ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาผลของปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีต่อการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าว โดยการปลูกข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 1 ด้วยการปักดำในพื้นที่แปลงนาอินทรีย์ของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี และแบ่งการทดลองออกเป็น 4 ชุด ได้แก่ 1) แปลงควบคุมที่ไม่มีการเติมปุ๋ย 2) แปลงที่เติมปุ๋ยอินทรีย์ (มูลวัว) 3) แปลงที่เติมปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และ 4) แปลงที่เติมปุ๋ยเคมี และทำการเก็บตัวอย่างดิน น้ำและอากาศ 5 ระยะ ได้แก่ ก่อนการเพาะปลูก (0 วัน) ระยะต้นกล้าหลังปักดำ (30 วัน) ระยะแตกกอ (60 วัน) ระยะออกดอก (90 วัน) และระยะก่อนการเก็บเกี่ยว (120 วัน) ผลการศึกษาพบว่า แปลงนาที่ปลดปล่อยก๊าซมีเทนเฉลี่ยมากที่สุด ได้แก่ แปลงที่เติมปุ๋ยเคมี รองลงมา ได้แก่ แปลงที่เติมปุ๋ยคอก เติมปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และแปลงควบคุม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.79  1.35  1.28 และ 1.20 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรต่อวัน ตามลำดับ โดยทุกแปลงมีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) และเมื่อเปรียบเทียบการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในแต่ละแปลงทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว พบว่า ข้าวระยะแตกกอมีการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสูงที่สุดในแปลงนาที่เติมปุ๋ยเคมี รองลงมา คือ แปลงที่เติมปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด เติมปุ๋ยคอก และแปลงควบคุม โดยมีค่าการปลดปล่อยก๊าซมีเทนเฉลี่ยเท่ากับ 3.03  2.88  1.68 และ 1.03 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งค่าที่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผลผลิตข้าว พบว่า แปลงที่เติมปุ๋ยคอกให้ผลผลิตข้าวมากที่สุด รองลงมา คือ แปลงที่เติมปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และแปลงควบคุม ตามลำดับ

Article Details

How to Cite
สัมพันธ์พานิช พ. (2012). การใช้ปุ๋ยคอกและเคมีต่อการปลดปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าว. วารสารวิทยาศาสตร์ มข., 40(4), 1236–1249. สืบค้น จาก https://ph01.tci-thaijo.org/index.php/KKUSciJ/article/view/253368
บท
บทความวิจัย
Author Biography

พันธวัศ สัมพันธ์พานิช, สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย