การเจริญเติบโตของต้นอ่อนกล้วยไม้เอื้องคำด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชต้นทุนต่ำ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การขยายพันธุ์ต้นอ่อนเอื้องคำด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายโดยการนำต้นอ่อนในสภาพปลอดเชื้อมาเพาะเลี้ยงบนอาหารวุ้นสูตร Vacin and Went (VW) เป็นชุดควบคุม เปรียบเทียบกับอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่ายที่เตรียมจากสารละลายสำหรับปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน สูตรกิตติศักดิ์ (2558) ความเข้มข้น 0KS, 1/5KS, 2/5KS, 3/5KS, 4/5KS และ KS เติมน้ำตาล 20 กรัมต่อลิตร ปรับ pH เป็น 4.9 เติมผงวุ้น 7 กรัมต่อลิตร นำไปต้มจนวุ้นละลาย แล้วรอให้อุณหภูมิของอาหารลดลงถึง 60 องศาเซลเซียส จึงเติมน้ำยาฟอกผ้าขาวไฮเตอร์ 0.5 มิลลิลิตรต่อลิตร เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์จากนั้นนำไปเลี้ยงในสภาวะให้แสงเป็นเวลา 16 ชั่วโมงต่อวัน ความเข้มแสง 2,000 ลักซ์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ที่อุณหภูมิห้อง (29.9 องศาเซลเซียส) เปรียบเทียบกับห้องควบคุมอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส รวม 14 ชุดการทดลอง ผลการทดลองพบว่าต้นอ่อนเอื้องคำที่เพาะเลี้ยงบนอาหารวุ้นสูตร KS ที่อุณหภูมิห้อง ให้ความสูงเฉลี่ยของต้นอ่อน 2.20 เซนติเมตร ซึ่งสูงกว่าการเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตรมาตรฐาน คือ VW อย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินอกจากนี้ยังมีความยาวใบเฉลี่ย 2.83 เซนติเมตร มากกว่าทุกชุดการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ดังนั้นอาหารวุ้นสูตร KS จึงสามารถนำมาใช้เพื่อขยายพันธุ์เอื้องคำทดแทนอาหารสูตร VW ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีขั้นตอนการเตรียมที่ง่าย อุปกรณ์และสารเคมีที่สามารถหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด และมีราคาถูก นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบอาหารสูตรเดียวที่เพาะเลี้ยงในอุณหภูมิแตกต่างกันยังพบว่าการเพาะเลี้ยงต้นอ่อนที่อุณหภูมิห้องจะมีการเจริญเติมโตมากกว่า และทุกชุดการทดลองยังสามารถชักนำให้ต้นอ่อนเกิดรากได้ 100% ดังนั้นการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในห้องที่ไม่ควบคุมอุณหภูมิจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการประหยัดต้นทุนในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพืชชนิดอื่น ๆ ได้ในอนาคต
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.