สมบัติทางกายภาพของระบบดาวคู่แบบแตะกัน EH Cnc
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาคาบการโคจร องค์ประกอบทางกายภาพ และสร้างแบบจำลองของระบบดาวคู่อุปราคา EH Cnc นอกจากนี้ยังศึกษาการมีอยู่ของวัตถุที่สามในระบบ เพื่อวิเคราะห์วิวัฒนาการของระบบดาวคู่แบบแตะกัน ทำการสังเกตการณ์ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง รุ่น PlaneWave CDK ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 28 นิ้ว บันทึกข้อมูลด้วยระบบซีซีดีโฟโตเมตรีรุ่น Apogee U9000 ผ่านแผ่นกรองแสงช่วงความยาวคลื่นสีน้ำเงิน (B) และสีเหลือง (V) ตามมาตรฐานระบบ UVB ข้อมูลดังกล่าวถูกนำมาสร้างกราฟแสง และหาค่าเวลาที่แสงน้อยที่สุดเพื่อนำมาสร้างแผนภาพ (O-C) พบว่าจากกราฟแสงของระบบดาวคู่อุปราคา EH Cnc ช่วงความลึกของอุปราคาปฐมภูมิและอุปราคาทุติยภูมิมีค่าใกล้เคียงกัน มีคาบการโคจรของระบบเท่ากับ 0.4180267 วัน มีอัตราการเปลี่ยนแปลงคาบการโคจรของระบบลดลงในอัตรา 1.16 x 10-3 วินาทีต่อปีซึ่งเป็นผลจากการสูญเสียโมเมนตัมเชิงมุมตามทฤษฎี AML เมื่อวิเคราะห์แผนภาพ (O-C)2 พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงคาบการโคจรในลักษณะซ้อนทับกัน อันเป็นผลจากการมีอยู่ของวัตถุสามในระบบคำนวณระยะห่างจากจุดศูนย์กลางมวลได้ 0.4332 หน่วยดาราศาสตร์และกราฟแสงที่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรม PHOEBE 0.31a พบว่าระบบดาวคู่อุปราคา EH Cnc มีอัตราส่วนมวลเท่ากับ 2.85 มุมเอียงของระนาบวงโคจร 85.70±0.06 องศา และอุณหภูมิพื้นผิวของดาวปฐมภูมิและดาวทุติย-ภูมิมีค่าใกล้เคียงกัน คือ 6,400 และ 6,350 เคลวิน ตามลำดับ จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าระบบดาวคู่อุปราคา EH Cnc ประกอบด้วยดาวฤกษ์ชนิดสเปกตรัม F0 บนแถบลำดับหลักตามแผนภาพแฮร์ตปรอง-รัสเซล และมีโครงสร้างแบบจำลองทางกายภาพเป็นแบบแตะกัน ประเภท W UMa
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.