สัณฐานวิทยากะโหลกและเส้นขนของกระรอกหลากสี Callosciurus finlaysonii (Horsfield, 1823) 2 ชนิดย่อย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาลักษณะสัณฐานวิทยาของกะโหลกและเส้นขน เพื่อใช้ระบุชนิดย่อยของกระรอกหลากสี 2 ชนิดย่อยที่พบในเขตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่ กระรอกหลากสีชนิดย่อย Callosciurus finlaysonii bocourti (Milne-Edwards, 1867) และชนิดย่อย C. finlaysonii boonsongi (Moore and Tate, 1965) การเตรียมตัวอย่างกะโหลกทําแบบง่ายด้วยการต้มและกําจัดเนื้อเยื่ออ่อนออก การเตรียมเส้นขน โดยถอนจากบริเวณหลัง ท้อง ข้างลําตัว และส่วนหาง ของทั้งสองชนิดย่อย ใช้วิธีการกดและผนึกทั้งชิ้นและตรวจสอบด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง ผลการศึกษาพบว่าลักษณะสัณฐานวิทยาของกะโหลกของทั้งสองชนิดย่อยมีลักษณะกะโหลกสั้นและแผ่กว้าง จะงอยจมูก (rostrum) สั้นและโค้งมน ส่วนยื่นหลังเบ้าตา (postorbital process) พัฒนาดี กระดูกแก้ม (jugal) ยาว กระดูกเพดานปาก (palatine) กว้างและสั้น กระดูกกล่องหู (tympanic bulla) มีขนาดใหญ่ และโป่งพองเป็นกระเปาะขนาดเล็กส่วนลักษณะของเส้นขนพบมีรูปแบบของชั้นคิวติเคิลที่มีลักษณะเป็นแผ่นเกล็ด ยาว รี ขอบเรียบ เรียงซ้อนกันไม่เป็นระเบียบ ทั้งในระดับชนิดย่อยเดียวกันและระหว่างชนิดย่อยทั้งสอง ชั้นเมดัลลาเป็นแบบ serial ladder ตลอดแนวเส้นขนในชนิดย่อย C. finlaysonii bocourti และพบบริเวณช่วงโคนถึงกลางเส้นขนในชนิดย่อย C. finlaysonii boonsongi และเป็นรูปแบบ lattice ในช่วงครึ่งปลายของเส้นขน ในการศึกษานี้พบว่ากะโหลกของทั้งสองชนิดย่อยมีลักษณะคล้ายกันมาก จึงไม่สามารถใช้ลักษณะกะโหลกในการระบุชนิดได้ส่วนลักษณะของเส้นขนพบมีความแตกต่างบางลักษณะ โดยเฉพาะลักษณะของชั้นเมดัลลา สามารถใช้ประกอบในการระบุจําแนกชนิดย่อยทั้งสองออกจากกันได้
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.