ผลของระยะเวลาการเก็บรักษาด้วยการแช่เย็นต่ออัตรารอดการเติบโตและองค์ประกอบทางชีวเคมีของไดอะตอม Chaetoceros gracilis
Main Article Content
บทคัดย่อ
Chaetoceros gracilis (C. gracilis) เป็นไดอะตอมที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายสำหรับอนุบาลลูกกุ้งในประเทศไทย วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมของการเก็บรักษาด้วยวิธีการแช่เย็น (อุณหภูมิ 4 - 5 องศาเซลเซียส) ต่อการมีชีวิตรอด การเติบโตเมื่อนำกลับมาเลี้ยงใหม่ การเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรีย และองค์ประกอบทางชีวเคมีของ C. gracilis ผลการศึกษาพบว่าจำนวนเซลล์ของ C. gracilis มีค่าลดลง (P<0.05) ตลอดระยะเวลาการแช่เย็น โดยในวันที่ 28 ของการเก็บรักษาความหนาแน่นเซลล์ของ C. gracilis ลดลงเหลือ 2.29 x 106 เซลล์ต่อมิลลิลิตร (เริ่มต้นที่ 6.67 x 106 เซลล์ต่อมิลลิลิตร) และมีอัตรารอดของเซลล์ 5.08 เปอร์เซ็นต์การเติบโตของ C. gracilis ที่นำเพาะเลี้ยงใหม่มีความแตกต่างกัน (P<0.05) โดยเซลล์ที่แช่เย็นเป็นระยะเวลา 3–14 วัน สามารถนำกลับมาเลี้ยงใหม่ได้แต่เซลล์ที่ผ่านการแช่เย็นเกิน 21 วัน มีการเติบโตช้าไม่เหมาะสมที่จะนำกลับไปเพาะเลี้ยงใหม่ ปริมาณจุลินทรีย์รวมและวิบริโอโคโลนีสีเขียวที่พบในตัวอย่างมีค่าอยู่ในช่วง 5.64×104 – 2.88×107 และ 5.67×103–1.53×107 CFU/มิลลิลิตร ตามลำดับ การศึกษาในครั้งนี้พบว่า C. gracilis ที่ไม่ผ่านการแช่เย็นและผ่านการแช่เย็นไม่เกิน 7 วัน มีปริมาณโปรตีนและไขมันสูงแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) กับชุดที่ผ่านการแช่เย็นเกิน 7 วัน ขณะที่ปริมาณคาร์โบไฮเดรตมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการแช่เย็นซึ่งผลการศึกษาที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการอาหารมีชีวิตสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.