การประเมินปริมาณสารพฤกษเคมีบางประการ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารกลุ่มฟีนอลิกของมะม่วงพื้นเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา
Main Article Content
บทคัดย่อ
มะม่วงจัดเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยา นิยมใช้ในการแพทย์ทางเลือกกันอย่างแพร่หลายรวมทั้งการจําหน่ายเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อการบริโภคสดทั้งภายในและต่างประเทศ ดังนั้นงานวิจัยนี้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ ปริมาณเบต้าแคโรทีนและไลโคปีน รวมทั้งปริมาณสารกลุ่มฟีนอลิกในมะม่วงดิบและสุกของพันธุ์พื้นบ้านของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ มะม่วงพันธุ์น้ําดอกไม้พันธุ์ขายตึก และพันธุ์มหาชนก โดยทําการวิเคราะห์ปริมาณฟีนอลิกทั้งหมด ปริมาณเบต้าแคโรทีนและไลโคปีน โดยวิธี HPLC และทดสอบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH และ FRAP จากผลการทดลอง พบว่า ปริมาณฟีนอลิกทั้งหมดของมะม่วง 3 สายพันธุ์มีค่าระหว่าง 2.78-4.12 mg gallic acid/100 g FW และมีค่าแตกต่างเพียงเล็กน้อยระหว่างสายพันธุ์โดยพบว่ามะม่วงน้ำดอกไม้มีปริมาณฟีนอลิกทั้งหมดมากที่สุด แต่พบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH และ FRAP มากเป็นอันดับ 2 รองจากมะม่วงพันธุ์มหาชนก สําหรับปริมาณเบต้าแคโรทีน พบว่า ในมะม่วงดิบทั้ง 3 สายพันธุ์มีค่าระหว่าง 2.29-3.79 mg/100g และมะม่วงสุกมีค่าระหว่าง 20.54-50.32 mg/100g FW โดยมะม่วงพันธุ์มหาชนกสุกมีปริมาณแคโรทีนมากที่สุด และมะม่วงพันธุ์ขายตึกดิบมีปริมาณเบต้าแคโรทีนน้อยที่สุด สําหรับปริมาณไลโคปีน พบว่า มะม่วงทั้ง 3 พันธุ์มีการสะสมสารไลโคปีนในเนื้อผล ซึ่งมีค่าอยู่ในช่วง 0.22–0.28 mg/100 g FW โดยมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้มีปริมาณไลโคปีนมากที่สุดเท่ากับ 0.28 mg/100 g FW รองลงมาคือมะม่วงพันธุ์ขายตึกและพันธุ์มหาชนกมีปริมาณไลโคปีนเท่ากับ 0.25 และ 0.22 mg/100 g FW ตามลําดับ ส่วนปริมาณฟลาโวนอยด์ในมะม่วงดิบทั้ง 3 สายพันธุ์มีค่าอยู่ในช่วง 0.27–185.25 mg/100g และปริมาณฟลาโวนอยด์ในมะม่วงสุกมีค่าอยู่ในช่วง 0.12-978.12 mg/100g โดยมะม่วงพันธุ์น้ําดอกไม้สุกมีปริมาณฟลาโวนอยด์ในเนื้อผลมากที่สุดเท่ากับ 978.12 mg/100 g FW
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.