การศึกษาศักยภาพหัตถกรรมของชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย เพื่อปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชตระกูลปอ
Main Article Content
บทคัดย่อ
การดำเนินงานศึกษาศักยภาพหัตถกรรมของชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย เพื่อปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชตระกูลปอมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน 5 ประการ ดังนี้ 1) ศึกษาและพิจารณาคัดเลือกชุมชนที่มีความต้องการในการพัฒนาและเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชตระกูลปอ 2) ศึกษาศักยภาพหัตถกรรมของชุมชน กรรมวิธี เทคนิค 3) พัฒนาแนวคิด และสร้างทฤษฎีใหม่ในการผลิต 4) นำความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์มาสร้างมูลค่าเพิ่ม 5) ประเมินและทดสอบความเป็นไปได้ในการนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ผู้วิจัยได้ทำการคัดเลือกศักยภาพหัตถกรรมในชุมชน โดยกำหนดเป็นชุมชนที่ผลิตงานหัตถกรรมของชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย เพื่อปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชตระกูลปอ ตามเกณฑ์ 4 ประการ คือ 1) ชุมชนที่มีการปลูกปอ 2) ชุมชนที่ทำงานหัตถกรรมจากพืชตระกูลปอ 3) ชุมชนที่มีการปลูกพืชตระกูลปอและทำงานหัตถกรรมจากพืชตระกูลปอ 4) ชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน (มผช.) และในการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ชุมชนที่มีศักยภาพตามเกณฑ์จากการสำรวจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบไปด้วย 6 ชุมชน ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือก เป็นชุมชนที่มีความเหมาะสมในศักยภาพด้านแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอ มีศักยภาพทางด้านหัตถกรรม และเป็นชุมชนที่เพาะปลูกและผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพืชตระกูลปอ ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านสายใยปอ บ้านตอกแป้น ตำบลบ้านค้อ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
การวิจัยนี้พบว่า พืชตระกูลปอเป็นพืชที่มีโอกาสการพัฒนาเข้าสู่ตลาดได้สูง มีคุณสมบัติแปรรูปตามศักยภาพของชุมชนได้ดีและหลากหลาย คือ มีความเหนียว อ่อนนุ่ม สามารถปลูกและขยายพันธุ์ได้ง่าย อีกทั้งยังได้ศึกษาการใช้เส้นใยของพืชอื่นๆ ในภูมิภาคร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชตระกูลปอ ได้แก่ ปอ ฝ้าย นุ่น กัญชง ป่านศรนารายณ์ กล้วย สับปะรด มะพร้าว ใยไผ่ ข่า ใยบัว ซึ่งผู้วิจัยได้เลือกพืชตระกูลปอเป็นเส้นใยหลักและเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า ที่ผ่านมายังมีงานวิจัยและการพัฒนาจำนวนน้อยมาก
สำหรับแนวทางในการนำผลการวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ด้วยกระบวนการการผลิตที่เกิดขึ้นใหม่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยพบว่า ปอกระเจาสามารถนำมาถัก เย็บ และออกแบบเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หมวดเฟอร์นิเจอร์ หมวดสินค้าไลฟ์สไตล์ ตลอดจนหมวดสินค้าแฟชั่นได้อย่างเหมาะสม โดยเส้นใยปอกระเจาสามารถใช้เป็นเส้นใยทดแทนและเป็นทางเลือกให้กับผู้ผลิตงานหัตถกรรมและผู้บริโภคงานหัตถกรรมได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทั่วไปสามารถใช้ผลการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาให้สามารถใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางสังคมของแต่ละท้องถิ่นได้
Article Details
"ข้อคิดเห็น เนื้อหา รวมทั้งการใช้ภาษาในบทความถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน"
References
[2] อิทธิพล พันธ์ธรรม. 2555. สถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอชูงานวิจัยนำของเหลือใช้จากภาคเกษตรแปรรูปสู่เส้นใยธรรมชาติเพิ่มมูลค่าสิ่งทอไทยไปตลาดโลก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://w.efinancethai.com. (วันที่ค้นข้อมูล: 10 มกราคม 2556).
[3] กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2543. สถิติการเกษตรของประเทศไทย ปีเพาะปลูก 2525/26, 2527/28, 2536/36 และ 2543/44.
[4] กัลยกร จันทร์สาขา พิชัย สดภิบาล และอุดมศักดิ์ สาริบุตร. 2554. ศึกษาการออกแบบผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมประเภทงานจักสาน ไม้ไผ่ลายขิด กลุ่มผู้ผลิตบ้านหนองสระพัง ตำบลหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์. วารสารครุศาสตร์ อุตสาหกรรม, 10(3), น. 337-346.
[5] สํานักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม. 2555. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tisi.go.th (วันที่ค้นข้อมูล: 10 พฤศจิกายน 2555).
[6] สำนักนายกรัฐมนตรี. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2555. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่11 (2555-2559). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.nesdb.go.th/Default.aspx? tabid=395 (วันที่ค้นข้อมูล: 10 พฤศจิกายน 2555)
[7] ไชยยศ เพชระบูรณิน. 2536. ปอแก้วปอกระเจาในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. เล่มที่ 17