Publication Ethics
วารสารมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านบทความวิจัย ผลงานทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความก้าวหน้า และข้อค้นพบใหม่ๆ เชิงวิศวกรรม รวมไปจนถึงผลงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
กองบรรณาธิการตระหนักถึงจริยธรรมการตีพิมพ์ (Publication Ethics) เสมอมา เพื่อการตีพิมพ์ที่ถูกต้อง โปร่งใส และมีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งในส่วนของผู้เขียน (Author) ผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และบรรณาธิการ (Editor) จึงกำหนดจริยธรรมการตีพิมพ์ไว้ ดังนี้
บทบาทและหน้าที่ของผู้เขียน (Duties of Authors)
- ผู้เขียนต้องส่งบทความไม่ซ้ำซ้อนกับผลงานตนเอง ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ระหว่างการเสนอพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น
- ผู้เขียน ไม่คัดลอกผลงานวิจัย งานตีพิมพ์ ของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนเอง
- ผู้เขียนบทความต้องให้ข้อมูลถูกต้อง ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
- ผู้เขียนต้องเขียนบทความตามรูปแบบตามวารสารกำหนดไว้
- หากงานวิจัย หรือ งานตีพิมพ์ ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัย ต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนการวิจัยอย่างครบถ้วน
- เมื่อผู้เขียนมีการนำผลวิจัยของผู้อื่นมาใช้ในบทความ ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลวิจัยเหล่านั้นตามรูปแบบที่วารสารวิศวกรรมศาสตร์ ราชมงคลธัญบุรีกำหนดอย่างถูกต้องและครบถ้วน
- ผู้เขียนหลักและผู้เขียนร่วมที่มีชื่อปรากฏอยู่ในบทความ ต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัยตามความเป็นจริง
- ข้อความที่ปรากฏในบทความและองค์ประกอบทั้งหมดของบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่ผู้เดียว
- ผู้เขียนต้องยอมรับผลการพิจารณาของผู้ประเมินบทความและการตัดสินของกองบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด
บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ (Duties of Reviewers)
- ผู้ประเมินบทความ อ่านบทความที่บรรณาธิการจัดส่งให้ เพื่อพิจารณาในด้านคุณค่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากบทความดังกล่าวที่เหมาะสมสำหรับการอ้างอิงทางด้านวิชาการ
- ผู้ประเมินบทความต้องให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ทางด้านคุณภาพ เพื่อที่จะทำให้บทความดังกล่าวมีความสมบูรณ์ถูกต้องทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหาสาระที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้เขียนและต่อผู้อ่าน ก่อนที่จะนำส่งกลับคืนยังกองบรรณาธิการเพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
- ผู้ประเมินบทความจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ กับผู้เขียน
- ผู้ประเมินบทความจะต้องประเมินบทความในสาขาที่ตนมีความเชี่ยวชาญและมีหลักฐานที่เชื่อถือได้
- ผู้ประเมินบทความมีบทบาทต่อการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของผลงานจากผู้เขียน หากมีความซ้ำซ้อนให้แจ้งข้อมูลที่ตรวจพบมายังบรรณาธิการวารสาร
- ผู้ประเมินบทความต้องมีใจเป็นกลาง ไม่มีอคติหรือลำเอียง ต่อบทความที่ทำการประเมิน
- ผู้ประเมินบทความ ต้องไม่เปิดเผย ไม่คัดลอก ข้อมูลใด ๆ ของบทความที่พิจารณาเพื่อประโยชน์ส่วนตน
บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการวารสาร (Duties of Editors)
- เมื่อผู้เขียนส่งบทความ บรรณาธิการวารสารจะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของบทความให้เป็นไปตามรูปแบบที่วารสารวิศวกรรมศาสตร์ ราชมงคลธัญบุรี ได้กำหนดไว้ หากมีการปรับปรุงแก้ไขหรือเพิ่มเติมต้องนำส่งคืนผู้เขียนเพื่อปรับแก้ก่อนนำส่งผู้ประเมินบทความในขั้นตอนต่อไป
- เมื่อผู้เขียนผ่านการตรวจสอบรูปแบบ บรรณาธิการวารสารจะดำเนินนำส่งบทความให้แก่ผู้ประเมินบทความโดยมีการคัดเลือก แต่งตั้ง และประสานงานกับผู้ประเมินบทความที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่สอดคล้องกับเนื้อหาบทความนั้น ๆ ทั้งนี้จะมีผู้ประเมินอย่างน้อย 3 ท่าน เพื่อการพิจารณาต่อ 1 บทความ
- หากมีการแก้ไขปรับปรุงหรือมีคำแนะนำเพิ่มเติมใด ๆ จากผู้ประเมินบทความ บรรณาธิการวารสารจะแจ้ง ติดตามและประสานงานกับผู้เขียน เพื่อให้มีการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพบทความ
- บรรณาธิการวารสารจะต้องรักษาความลับ โดยไม่เปิดเผยชื่อและข้อมูลของผู้เขียนและของผู้ประเมินบทความตลอดช่วงระยะเวลาการดำเนินการพิจารณาบทความ
- บรรณาธิการวารสารจะเป็นผู้ตัดสินใจคัดเลือกบทความมาตีพิมพ์โดยผ่านกระบวนการประเมินอย่างมีขั้นตอนและสอดคล้องกับนโยบายของวารสาร
- บรรณาธิการวารสารจะไม่รับตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว หากพบว่าบทความนั้นมีความซ้ำซ้อนกับวารสารอื่นหรือเคยเผยแพร่ด้วยวิธีอื่นๆ บรรณาธิการจะต้องเพิกถอนบทความนั้นและประกาศอย่างเป็นทางการให้ทราบทั่วกัน
- บรรณาธิการวารสารจะทำการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่จะตีพิมพ์ไม่มีการคัดลอกผลงานของผู้อื่น (Plagiarism) และหากตรวจพบ ไม่ว่าจะในขั้นตอนใดก็ตาม จะหยุดดำเนินการและติดต่อผู้เขียน ให้มีการชี้แจงประกอบการพิจารณาในการตอบรับหรือการปฏิเสธการตีพิมพ์
- บรรณาธิการวารสารจะต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ กับผู้เขียน และผู้ประเมินบทความ ตลอดจนบุคคลใด ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากการเผยแพร่หรือตีพิมพ์บทความ
- บรรณาธิการต้องพัฒนาปรับปรุงคุณภาพวารสารอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
- บรรณาธิการวารสารจะคัดเลือกบทความโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานคำแนะนำจากผู้ประเมินบทความโดยพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมชัดเจนในหลักฐานสนับสนุนต่าง ๆ จากผู้เขียน
- การตัดสินของกองบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด