การใช้ยาต้านการหลั่งกรดสำหรับป้องกันการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นในผู้ป่วยที่ได้รับยาแอสไพรินร่วมกับยาโคลพิโดเกรล(Antisecretory drug use for prophylaxis of upper gastrointestinal bleeding in patients receiving aspirin together with clopidogrel)
Main Article Content
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษารูปแบบการใช้ยาต้านการหลั่งกรดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น และการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นในผู้ป่วยที่ได้รับยาแอสไพริน (aspirin) ร่วมกับยาโคลพิโดเกรล (clopidogrel)
วิธีการศึกษา: การศึกษาแบบภาคตัดขวางย้อนหลัง (retrospective cross-sectional study) นี้ ได้ทบทวนเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีประวัติการได้รับยาแอสไพรินร่วมกับยาโคลพิโดเกรล ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิขั้นสูงแห่งหนึ่งในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2558 โดยศึกษาข้อมูลปัจจัยเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับยาต้านการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ตามเกณฑ์การรักษามาตรฐานของ American College of Cardiology (ACC)/ American College of Gastroenterology (ACG) และ American Heart Association (AHA) ปี 2010 กับการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่ได้รับการยืนยันด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร โดยใช้สถิติไคสแควร์ในการวิเคราะห์
ผลการศึกษา: ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่ได้รับยาแอสไพรินร่วมกับยาโคลพิโดเกรล จำนวน 184 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (127 คน, ร้อยละ 69.02) โดยส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปี (146 คน, ร้อยละ 79.35) และส่วนใหญ่มีปัจจัยเสี่ยงที่ควรได้รับยาต้านการหลั่งกรด (antisecretory drugs) เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นเพียงปัจจัยเดียว โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุด ได้แก่ การมีอายุมากกว่า 60 ปี (131 คน, ร้อยละ 87.33) จากการศึกษารูปแบบการใช้ยาต้านการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ (proton pump inhibitors; PPIs) พบว่ามีผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงที่สมควรได้รับยาและและการได้รับยาสอดคล้องตามแนวทางการรักษา จำนวน 124 ราย (ร้อยละ 67.39) โดยมีอัตราการเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่ได้รับการยืนยันจากการส่องกล้องในทางเดินอาหาร ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงและได้รับยาลดการหลั่งกรดสอดคล้องตามแนวทางการรักษามาตรฐาน (7 ราย, ร้อยละ 6.14) ซึ่งไม่แตกต่างจากผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาตามแนวทางการรักษามาตรฐาน (2 ราย, ร้อยละ 5.55) (p-value = 1.000)
สรุปผลการศึกษา: รูปแบบการใช้ยาต้านการหลั่งกรดในกลุ่มโปรตอนปั๊มอินฮิบิเตอร์ สำหรับป้องกันภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นในผู้ป่วยที่ได้รับยาแอสไพรินร่วมกับยาโคลพิโดเกรล ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องตามแนวทางการรักษา อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลในการป้องกันภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่มีความชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาไม่สอดคล้องตามแนวทางการรักษา เพื่อหาแนวทางการป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้น