การดูดซับสีเมทิลีนบลูด้วยซีโอไลต์สังเคราะห์ Na-A และ ซีโอไลต์มาตรฐาน 4A
คำสำคัญ:
ซีโอไลต์, สีเมทิลีนบลู, การดูดซับ, ไอโซเทอมบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ทำการศึกษาความสามารถในการดูดซับสีเมทิลีนบลูโดยทำการเปรียบเทียบระหว่างซีโอไลต์สังเคราะห์ Na-A ที่สังเคราะห์จากตะกอนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำประปา และซีโอไลต์มาตรฐาน 4A โดยทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการดูดซับสีเมทิลีนบลูได้แก่ ปริมาณวัสดุดูดซับ ระยะเวลาที่ใช้ในการดูดซับ ความเข้มข้นของสีเมทิลีนบลู และค่าพีเอช เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการดูดซับ โดยใช้สมการของแลงเมียร์และฟรุนดิชในการศึกษาไอโซเทอมของการดูดซับ จากผลการทดลอง พบว่า ปริมาณวัสดุดูดซับ และระยะเวลาที่เหมาะสมของซีโอไลต์สังเคราะห์ Na-A เท่ากับ 1 g และ 60 min ตามลำดับ ซึ่งซีโอไลต์สังเคราะห์ Na-A และ ซีโอไลต์มาตรฐาน 4A ให้ประสิทธิภาพในการดูดซับสีเมทิลีนบลูได้มากกว่า 90 และ 18% ตามลำดับ และความสามารถในการดูดซับของซีโอไลต์แต่ละชนิดในช่วงค่าพีเอช 3-9 มีค่าใกล้เคียงกัน จากการศึกษาสมการไอโซเทอม พบว่า การดูดซับสีเมทีลีนบลูสอดคล้องกับสมการของแลงเมียร์ มากกว่าฟรุนดิช โดยซีโอไลต์สังเคราะห์ Na-A และ ซีโอไลต์มาตรฐาน 4A มีความสามารถในการดูดซับสีเมทิลีนบลูได้สูงสุดเท่ากับ 40.67 และ 7.85 mg/g ตามลำดับ นั่นแสดงว่าซีโอไลต์สังเคราะห์ Na-A เป็นตัวดูดซับสีเมทีลีนบลูที่ดี ดังนั้นซีโอไลต์สังเคราะห์ Na-A ที่สังเคราะห์จากตะกอนประปาเป็นวัสดุดูดซับที่ดีสำหรับการกำจัดสีย้อม