การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนโดยการเพิ่มรอยหยักบนครีบบานเกล็ด

ผู้แต่ง

  • เกียรติบดินทร์ หวังเลิศพาณิชย์
  • ชวลิต กิตติชัยการ

คำสำคัญ:

ซีเอฟดี, ครีบบานเกล็ด, เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน

บทคัดย่อ

ในปัจจุบันมีการนำเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนแบบช่องขนาดเล็กมาใช้อย่างแพร่หลาย ตัวเครื่องจะประกอบไปด้วยท่อขนาดเล็กที่เป็นช่องการไหลผ่านของสารที่ต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความร้อน และแผ่นครีบบานเกล็ดซึ่งทำหน้าที่เพิ่มพื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อน การเปลี่ยนแปลงมุมและขนาดของครีบบานเกล็ดจะส่งผลให้พฤติกรรมการถ่ายเทความร้อนเปลี่ยนแปลงไป งานวิจัยนี้จะศึกษาผลการปรับแต่งครีบบานเกล็ดโดยการเพิ่มรอยหยักทั้งหมด 3 รูปแบบ ต่อประสิทธิภาพทางความร้อนโดยวิธีพลศาสตร์การไหลเชิงคำนวณหรือซีเอฟดี เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนทำมาจากอลูมิเนียม 3003 ภายในผิวท่อมีอุณหภูมิคงที่ 10 องศาเซลเซียส อากาศที่ไหลเข้าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนมีความเร็ว 5 เมตร/วินาที และ อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และอากาศไหลออกจากเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนสู่บรรยากาศ จากผลการศึกษาพบว่าการทำรอยหยักเป็นการเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของครีบบานเกล็ดส่งผลให้เพิ่มปริมาณการถ่ายเทความร้อนและความดันลดด้วย การทำรอยหยักมากจะทำให้เกิดการไหลวนที่ทางออกของเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนมากซึ่งทำให้ความดันลดเพิ่มมากขึ้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบอัตราส่วนระหว่างปริมาณการถ่ายเทความร้อนที่เพิ่มขึ้นกับความดันลดที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับครีบบานเกล็ดแบบเรียบ ผลปรากฏว่าการทำรอยหยักแบบเว้นช่วงจะให้ค่าประสิทธิภาพที่ดีที่สุด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-06-25