การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อการวินิจฉัยโรคระบาดโควิด-19

Authors

  • พรรณี แสงแก้ว Phannee Saengkaew Department of Nuclear Technology, Faculty of Engineering, Chulalongkorn University
  • มนัสวี เลาะวิธี Manasavee Lohvithee Department of Nuclear Technology, Faculty of Engineering, Chulalongkorn University
  • ทวีป แสงแห่งธรรม Taweap Sanghangthum Department of Radiology, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University

Keywords:

เชื้อโควิด-19, เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด, ปัญญาประดิษฐ์

Abstract

วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงราวเดือนมิถุนายน 2020 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกประมาณ 7,600,000 คน และประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3,100 คน  ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการป้องกันโรคนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงหลายด้าน เนื่องจากเป็นโรคที่สามารถแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนได้ค่อนข้างง่าย คือส่งผ่านได้โดยสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อที่ฟุ้งกระจายออกมาด้วยการไอหรือการจาม โดยเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและสามารถเข้าไปทำลายปอดทำให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ หากมีการติดเชื้อนี้และสามารถตรวจพบได้ทันที โดยวิธีการวินิจฉัยที่มีความไวและความถูกต้องสูง ทำให้ทราบสถานะของโรคตั้งแต่ช่วงระยะเริ่มต้น เป็นการป้องกันการแพร่เชื้อที่ดีที่สุด และจากผลการศึกษาจากข้อมูลการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสถานพยาบาลหลายแห่งของหลายประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ข้อสรุปว่า รอยโรคที่ตรวจพบได้จากการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด (chest CT-scan) สามารถช่วยร่วมเสริมกับผลตรวจที่ได้จากวิธีมาตรฐาน RT-PCR ในการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ตั้งแต่ช่วงระยะเริ่มต้น โดยพบว่าผลตรวจนั้นค่อนข้างมีอัตลักษณ์เฉพาะของรอยโรคที่เป็นการบ่งชี้ว่าเป็นสาเหตุมาจากการติดเชื้อโควิด-19 คือ การเกิดพื้นที่ฝ้าขาวมัวและ/หรือแถบปื้นสีขาวที่บริเวณรอบริมขอบและปอดกลีบล่างทั้งสองข้าง ดังนั้นจึงแนะนำวิธีนี้มาร่วมด้วยกับวิธีมาตรฐานสำหรับการวินิจฉัยโรคและประเมินโรคติดเชื้อนี้ ยิ่งไปกว่านั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ถูกนำมาช่วยสร้างระบบคอมพิวเตอร์ผู้ช่วยอัจฉริยะเพื่อช่วยวิเคราะห์และประเมินผลภาพถ่ายรังสีจากการถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องสูง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรังสีแพทย์ที่ค่อนข้างขาดแคลน ทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้นและแม่นยำมากขึ้น และยังช่วยลดสภาวะกดดันให้กับผู้ป่วยติดเชื้อที่เฝ้ารอการรักษาด้วย

Downloads

Published

2020-06-16