การกำหนดนโยบายการสั่งซื้อร่วมและเต็มตู้คอนเทนเนอร์ สำหรับวัตถุดิบนำเข้าเพื่อผลิตสิ่งทอ

ผู้แต่ง

  • ชื่นนภา เชื้อสุวรรณทวี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ปวีณา เชาวลิตวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

นโยบายสั่งซื้อ, วัตถุดิบนำเข้า, แบบจำลองรอบการสั่งซื้อคงที่, แนวคิดการสั่งซื้อเต็มตู้คอนเทนเนอร์, แนวคิดการสั่งซื้อร่วม

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้นำเสนอนโยบายที่เหมาะสมสำหรับวัตถุดิบนำเข้าหลายชนิด โดยประยุกต์ใช้แนวคิดการสั่งซื้อร่วม และการสั่งซื้อเต็มตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายรวมสำหรับการสั่งซื้ออันประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายการขนส่ง และค่าใช้จ่ายการเก็บรักษา ในขณะที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ที่ระดับการให้บริการ 95% งานวิจัยนี้เริ่มตั้งแต่การรวบรวมและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งข้อมูลวัตถุดิบ และข้อมูลข้อจำกัดต่างๆของการสั่งซื้อ จากนั้นขั้นตอนถัดมาทำการกำหนดปริมาณสั่งซื้อ   โดยประยุกต์ใช้แบบจำลองรอบการสั่งซื้อคงที่ ร่วมกับแนวคิดการสั่งซื้อร่วม และการสั่งซื้อเต็มตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งนี้ได้นำเสนอนโยบาย 3 รูปแบบได้แก่ 1) การพิจาณาปริมาณสั่งซื้อด้วยค่าเฉลี่ยของความต้องการ 2) การพิจารณาปริมาณสั่งซื้อด้วยค่าเฉลี่ยของความต้องการ ร่วมกับราคาวัตถุดิบ และ 3) การพิจารณาปริมาณสั่งซื้อด้วยค่าเฉลี่ยของความต้องการ ราคาวัตถุดิบ และความแปรปรวนของความต้องการ สำหรับขั้นตอนถัดมาทำการประเมินผลการดำเนินงานของนโยบายสั่งซื้อทั้ง 3 รูปแบบด้วยการจำลองสถานการณ์ โดยนโยบายที่เหมาะสมที่สุดต้องให้ผลค่าเฉลี่ยของค่าใช้จ่ายรวมต่ำที่สุด และมีค่าการกระจายของค่าใช้จ่ายรวมที่น้อยสุด  และในขั้นตอนสุดท้ายทำการวิเคราะห์ความไวของนโยบายสั่งซื้อที่เลือกเพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงผลของค่าใช้จ่ายรวมและระดับการให้บริการ เมื่อค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตราฐานของปริมาณความต้องการมีการเปลี่ยนแปลง

ผลของการวิจัยพบว่านโยบายที่มีรูปแบบเหมาะสมที่สุดคือ นโยบายที่มีรอบการสั่งซื้อคงที่ที่มีพิจาณาปริมาณสั่งซื้อด้วยค่าเฉลี่ยของความต้องการ เพียงปัจจัยเดียว และเมื่อดำเนินการสั่งซื้อตามนโยบายที่เหมาะสมกับปริมาณความต้องการวัตถุดิบจริงปี 2562 พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายรวมลงได้ 34% โดยที่ค่าใช้จ่ายการขนส่งลดลง 44% และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บวัตถุดิบคงคลังลดลง 24% ในขณะที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ที่ 95% ตามเป้าหมาย และในส่วนสุดท้ายการทดสอบความไวต่อการเปลี่ยนแปลงลักษณะของความต้องการ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายรวมเพียง 10%-11%  เมื่อค่าเฉลี่ยของปริมาณความต้องการลดลง 50% และมีความแปรปรวนของความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

References

BSP Books Pvt.Ltd. (2019). Scientific inventory control Chapter 29: Published by Elseviser Inc.

E Rimawan, U Mardono, O Kustiadi, M A Lutfi, and I Saraswati. (2019). Design analysis of raw materials inventory on TC1118 cloth products with JIT approach. Paper presented at the IOP Conf. Series: Materials Science and Engineering 673.

M.J.G Van Eijs. (1994). Multi-item inventory systems with joint ordering and transportation decisions. Int.J. Production Economics 35, 285-292.

ปวีณา เชาวลิตวงศ์. (2561). การกำหนดนโยบายพัสดุคงคลัง ทฤษฏีและกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุพรพันธ์ จิตธรรม, และ ปวีณา เชาวลิตวงศ์. (2560). การจัดการสินค้าคงคลังสำหรับธุรกิจบริการอาหารแช่แข็งนำเข้าจากต่างประเทศ. วารสารการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน 2560).

ศุภลักษณ์ จงสวัสดิวิบูลย์. (2555). การออกแบบระบบบริหารการจัดซื้อวัสดุนำเข้า. สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ณัฐพล สันแก้ว, และ กาญจ์นภา อมรัชกุล. (2562). การกำหนดนโยบายบริหารสินค้าคงคลังแบบเติมเต็มร่วมกันหลายรายการโดยมีข้อกำจัดการจัดส่งแบบเต็มคันรถ: กรณีศึกษา บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงานทาง E-Commerce แห่งหนึ่งในไทย. วารสารสถิติประยุกต์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2562).

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-01