การพัฒนากลไกเด็ดก้านพริกแบบทำงานต่อเนื่อง
คำสำคัญ:
พริกจินดา, เด็ดก้านบทคัดย่อ
ตลาดค้าส่งผักผลไม้แห่งหนึ่งมีปริมาณพริกจินดาเข้าสู่ตลาดต่อวันเป็นจำนวนมาก พริกทั้งหมดถูกขายต่อทั้งแบบเด็ดก้านและไม่เด็ดก้าน กรณีเด็ดก้าน ผลพริกจินดาต้องไม่เสียหายและขั้วต้องถูกเด็ดออกหมด ปกติตลาดแห่งนี้ใช้แรงงานคนในการเด็ดก้านพริกจินดา แต่แรงงานคนมีข้อจำกัดคือทำงานได้ช้าและมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทางออกของปัญหานี้คือการใช้เครื่องจักรที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แต่ยังไม่มีเครื่องที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ในปัจจุบัน งานวิจัยนี้คิดค้นหลักการเด็ดก้านพริกแบบใหม่ ออกแบบและสร้างกลไกสำหรับการเด็ดก้านพริกจินดาที่มีประสิทธิภาพและทำงานได้อย่างต่อเนื่อง กลไกใช้หลักการ Slider-Crank คู่แบบสมมาตรและลูกเบี้ยวเชิงเส้น เพื่อบีบและดึงก้านพริกที่สอดผ่านรูขอบเอียงของแผ่นเบ้าจนขั้วพริกยึดแน่นบนแผ่นเบ้า ใช้ก้านดันผลพริกเพื่อสร้างโมเมนต์ในทิศตั้งฉากกับแกนผลพริก เพื่อให้ผลพริกหลุดออกจากก้าน จากนั้นได้พัฒนาเพิ่มเติมให้กลไกสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้แผ่นเบ้าประกบคู่บนและล่างแทนแผ่นเบ้าแบบเจาะรูเดี่ยว ใช้แผ่นดัดรูปตัววีติดตั้งบนโซ่ลำเลียง เพื่อนำผลพริกและก้านพริกให้ผ่านเข้าช่องว่างของแผ่นเบ้าบนและล่างสู่กลไกบีบและดึงก้าน ผลการทดสอบกับพริกจินดาที่มีลักษณะทางกายภาพเหมาะสมด้วยความเร็ว 1 2 3 4 และ 5 ผลต่อวินาที พบว่าพริกทั้งหมดถูกเด็ดหลุดออกจากก้าน ผลพริกที่ได้มีคุณภาพดีร้อยละ 94 94 96 66 และ 30 ตามลำดับ ได้ผลพริกคุณภาพพอใช้ ได้แก่ มีขั้วเหลืออยู่เล็กน้อยหรือผลพริกฉีกขาดเล็กน้อย ร้อยละ 6 6 4 6 และ 6 ตามลำดับ และผลพริกคุณภาพไม่ดี ได้แก่ ผลพริกเสียหายร้ายแรงหรือก้านพริกไม่ถูกเด็ดออกร้อยละ 28 และ 64 ด้วยความเร็ว 4 และ 5 ผลต่อวินาที ตามลำดับ