การหาตำแหน่งติดตั้งหน่วยวัดเฟสเซอร์ในระบบไฟฟ้ากำลังที่ทำให้ใช้จำนวนหน่วยวัดเฟสเซอร์น้อยที่สุด ด้วยวิธีการค้นหาแบบนกกาเหว่า

ผู้แต่ง

  • สุทธิคุณ วิเขตกิจ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • พิสุทธิ์ รพีศักดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ดุลย์พิเชษฐ์ ฤกษ์ปรีดาพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำสำคัญ:

หน่วยวัดเฟสเซอร์; การวางหน่วยวัดเฟสเซอร์; ความสามารถในการสังเกตได้ของระบบ; วิธีการค้นหาแบบนกกาเหว่า

บทคัดย่อ

หน่วยวัดเฟสเซอร์ (PMU) เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดที่มีความสำคัญในการเฝ้าสังเกตค่าพารามิเตอร์ทางไฟฟ้า เนื่องจากสามารถตรวจวัดค่าได้แบบเวลาจริง (real-time) จึงทำให้เกิดประเด็นสำคัญที่ควรนำมาพิจารณา คือ หากต้องการทราบค่าพารามิเตอร์ทางไฟฟ้าของทุกบัสในระบบ จะต้องพิจารณาวางหน่วยวัดเฟสเซอร์ที่ตำแหน่งใด ดังนั้นบทความนี้จึงนำเสนอวิธีการค้นหาแบบนกกาเหว่า (Cuckoo Search Algorithm, CSA) เพื่อค้นหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดในการวางหน่วยวัดเฟสเซอร์ และนำตำแหน่งที่ ได้มาพิจารณาความสามารถในการสังเกตค่าพารามิเตอร์ทางไฟฟ้าของทุกบัสในระบบ โดยทำการศึกษาและทดสอบกับระบบ IEEE 14-bus, 30-bus, 57-bus และ 118-bus ซึ่งผลที่ได้จะถูกนำมาเปรียบเทียบในด้านจำนวนหน่วยวัดเฟสเซอร์ที่ถูกใช้ติดตั้ง ด้านเวลาที่ใช้ในการคำนวณหาตำแหน่งในการวางหน่วยวัดเฟสเซอร์ และขั้นตอนในการกำหนดค่าตัวแปรเริ่มต้นสำหรับการหาตำแหน่งดังกล่าว ร่วมกับวิธีการเชิงพันธุกรรม (Genetic Algorithm, GA) และวิธีการหาค่าเหมาะสมที่สุดแบบกลุ่มอนุภาค (Particle Swarm Optimization, PSO) ซึ่งพบว่าวิธีการค้นหาแบบนกกาเหว่าจะใช้จำนวนหน่วยวัดเฟสเซอร์ที่ถูกติดตั้ง และใช้เวลาในการคำนวณหาตำแหน่งในการวางหน่วยวัดเฟสเซอร์ที่น้อยกว่า รวมทั้งมีขั้นตอนในการกำหนดค่าตัวแปรเริ่มต้นที่ง่ายกว่าวิธีการทั้งสอง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-04-30